โฆษณา

Tuesday, December 23, 2008

Venture Capitalists ประเมินโอกาสในการลงทุนอย่างไร

เมื่อเอ่ยถึงการลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ เราต่างก็นึกถึงความเสี่ยงที่สูงที่สุดคือการที่บริษัทเกิดใหม่นั้นมักจะไปไม่รอดในช่วง 3-5 ปีแรกของการดำเนินงาน แต่ก็มีบริษัทไม่น้อยที่ผ่านช่วงยากลำบากมาได้ และกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ติดอันดับโลก
บริษัทเกิดใหม่เหล่านี้ หากเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจ และอาจเตะตาเหล่ากองทุนที่ยอมเสี่ยงไปกับบริษัทด้วย (Venture Capital) บริษัทเล็กๆที่เกิดใหม่นั้นอาจกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงได้ สิ่งที่ผมอยากนำมาเล่ากันในครั้งนี้คือ เหล่าผู้จัดการกองทุนที่บริษัทกองทุนร่วมเสี่ยง (Venture Capitalists) มีหลักการและเหตุผลอย่างไรในการเลือกที่จะทุ่มเงินลงทุนไปในบริษัทที่เกิดใหม่ และมีความเสี่ยงที่สูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การผลิต การตลาด และเรื่องบุคลากร ผมเชื่อว่าหลักการเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้ได้กลับบริษัทที่มีอยู่แล้วในบ้านเราได้เช่นกัน
จากการสัมภาษณ์ผู้จัดการกองทุน Venture Capital 4 คนโดย Harvard Business School ด้วยคำถามเดียวกัน สาม สี่ข้อ เรามาดูกันว่า ผู้จัดการกองทุนแต่ละกองจะมีคำตอบอย่างไรกับคำถามเหล่านั้น
คนแรกคือ Russell Siegelman: Partner, Kleiner Perkins Caufield & Byers ตอบคำถามข้อแรก ที่ถามว่า “คุณประเมินโอกาสในการลงทุนอย่างไร?” Siegelmam ตอบว่า สิ่งที่เขาพิจารณานั้นมีหลายประเด็น และประเด็นสำคัญประการแรกคือ บริษัทนั้นจะต้องมีโอกาสทางธุรกิจในตลาดที่ใหญ่ และโตเร็ว ประการต่อมาบริษัทจะต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่คงทน เช่นมีเครือข่ายทางธุรกิจที่ใหญ่ เช่น e-Bay หรือไม่ก็สามารถล็อคลูกค้าให้อยู่กับบริษัทได้ เช่น Microsoft หรือเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้า บริการที่เข้ามาแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีใครแก้ได้ และจะต้องเป็นปัญหาที่แก้ยาก ปัญหานั้นมักจะเป็นปัญหาพื้นๆที่ยังไม่ถูกแก้ไข เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีสิทธิบัตรมากนักเพราะผู้คนมักจะต่อต้าน ประการที่สาม เขาจะเลือกลงทุนในบริษัทที่มีทีมงานที่ผู้ก่อตั้งเป็นผู้ร่วมในทีมงาน และเป็นทีมงานที่เอาจริงเอาจัง เขาไม่ชอบลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ที่มีผู้บริหารจากภายนอก เพราะผู้ก่อตั้ง(เจ้าของ)กับมืออาชีพมักมีเป้าหมายในการบริหารธุรกิจไม่เหมือนกัน คือผู้ก่อตั้งจะมีเป้าหมายในการมองหาโอกาสในการสร้างให้บริษัทเติบโตแข่งแกร่ง เขาจึงยอมที่จะเสี่ยงกับผู้ก่อตั้งเสมอ
คำถามต่อไปคือ “คุณประเมินรูปแบบธุรกิจอย่างไร” เขาตอบว่า มีหลักใหญ่ๆอยู่สองประการ คือ หนึ่งคือสินค้าหรือตลาดนั้นๆเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่าย เช่นการปรับปรุงสินค้าหรือบริการเดิมให้ดีขึ้น และแน่นอนว่าเขาจะลงทุนในบริษัทที่มีรูปแบบธุรกิจ(Business Model) ที่เข้าใจได้จริงๆ ต่อมาหากเป็นสินค้าหรือตลาดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรืออาจจะเรียกได้ว่ารูปแบบธุรกิจไม่มีความชัดเจน เขาจะดูว่าธุรกิจนั้นๆมีตลาดที่ใหญ่พอไหม และมีอัตราการเติบโตของธุรกิจที่สูงเพียงพอที่จะเสี่ยงไหม สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อมาคือเรื่องของช่วงเวลาในการลงทุน ในบางครั้งธุรกิจมีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ยังไม่ใช่เวลาที่จะทำให้ธุรกิจนั้นเกิดได้ เขาจะยังไม่ร่วมลงทุน
คำถามที่ว่า “คุณตรวจสอบอะไรของบริษัทบ้างก่อนการตัดสินใจลงทุน” เขาตอบว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องตรวจสอบ คือการตรวจสอบทางเทคนิค ต้องดูให้แน่ใจว่าสินค้าและบริการนั้นๆเป็นได้จริงในเชิงเทคนิค และเชิงพานิช สิ่งที่ต้องตรวจสอบต่อไปคือ ลูกค้า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากบริษัทกำหนดลูกค้าเป้าหมายไม่ถูกต้อง บริษัทจะไม่มีหนทางในการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้า หรือลูกค้าไม่มีความต้องการที่จะจ่าย (เห็นว่าไม่คุ้มที่จะจ่าย) ค่าสินค้าหรือบริการ ส่วนนี้เขาจะพิจารณาอย่างละเอียดและเคร่งครัดมาก
คำถามที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางการเงิน “คุณมีขบวนการวิเคราะห์ทางการเงินอะไรบ้าง” คำตอบในส่วนนี้น่าสนใจมาก เขาตอบว่า สิ่งที่เขาทำไม่ใช่การประมาณการยอดขาย ต้นทุนหรือกำไรเป็นอย่างแรก สิ่งที่เขาทำคือ วิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งมูลค่า (Value Chain Analysis) หรืออธิบายง่ายๆคือขบวนการทำงานของบริษัทตั้งแต่สั่งซื้อวัตถุดิบจนกระทั่งการบริการหลังการขาย เขาจะวิเคราะห์ขบวนการทำงานที่มีความสัมพันธ์กับต้นทุนและยอดขายที่จะเกิดในแต่ละขั้นตอนอย่างรอบครอบ เพื่อให้เห็นว่าบริษัทจะสามารถทำได้จริงตามที่ประมาณการเอาไว้หรือไม่
จะเห็นว่า แม้Venture capital ที่มักจะเป็นแหล่งเงินให้กับบริษัทที่เกิดใหม่และมีความเสี่ยงที่สูงนั้นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆคือ คุณภาพของกิจการ ความสามารถในการแข่งขันระยะยาว มีตลาดและลูกค้าที่พร้อมจะจ่าย หลักการเหล่านี้เราเองก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนของเราได้เช่นกัน เพียงแต่เราให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นหลักเท่านั้นเอง
ครั้งต่อไปผมจะนำความเห็นของ Venture Capitalist คนอื่นมานำเสนอต่อครับ

โดย มนตรี นิพิฐวิทยา
จาก thaivi.com

หุ้นถูกเรื้อรัง

มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์กลุ่มหนึ่งที่ผมเองเคยซื้อ เคยขายไปแล้ว หรือบางทีก็ยังถืออยู่หรือกำลังคิดที่จะซื้อ และส่วนใหญ่ก็ยังจับตาดูอยู่ แต่กลับเป็นหุ้นที่ผมยังไม่เข้าใจดีพอและไม่รู้ว่าอนาคตมันจะวิ่งขึ้นไปไหม สิ่งเดียวที่ผมพอจะบอกได้ก็คือ ราคามันไม่ค่อยตกหรือตกก็ไม่มาก สิ่งที่ยังไม่รู้ก็คือ ทำไมราคามันจึงไม่ไปไหนสักทีทั้ง ๆ ที่มันเป็นหุ้นที่แสนจะถูกและเข้าข่ายเป็นหุ้นคุณค่าไม่ว่าจะวัดโดยตัวเลขอะไร หุ้นกลุ่มที่ว่านี้คือหุ้นที่ผมอยากจะเรียกว่า “หุ้นถูกเรื้อรัง”
หุ้นถูกเรื้อรังนั้นมีคุณสมบัติร่วมกันบางอย่างดังต่อไปนี้คือ ข้อแรก เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจ หลายบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” อีกหลายบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่โตช้าหรืออิ่มตัว เกือบทั้งหมดนั้นเป็นบริษัทที่เป็นโรงงานผู้ผลิตหรือขายสินค้าให้กับโรงงานอื่นหรือขายสินค้าที่คนซื้อไม่สนใจในตัวยี่ห้อสินค้า ไม่มีบริษัทไหนที่เป็นบริษัทที่ขายบริการ
ข้อสอง หุ้นถูกเรื้อรังนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดีเข้าข่ายเป็นหุ้นคุณค่าทุกด้าน เริ่มตั้งแต่ตัวเลขยอดขายและกำไรที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายปี ยอดขายและกำไรของหลายบริษัทอาจจะไม่ค่อยเติบโตมากนัก แต่บางบริษัทก็เติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอใช้ เรียกว่าผลการดำเนินงานนั้นอยู่ในข่ายที่สามารถ “คาดการณ์ได้” เช่นเดียวกัน บริษัทเหล่านี้มักจะมีปันผลสม่ำเสมอและผลตอบแทนจากปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือประมาณ 5- 6 % ต่อปี และถ้าใครที่ลงทุนแล้วหวังปันผลเป็นหลักแล้วละก็ หุ้นเหล่านี้ก็เป็นหุ้นที่น่าสนใจ จะเรียกว่าเป็นหุ้นห่านทองคำก็น่าจะได้
ข้อสาม ฐานะทางการเงินของบริษัทในกลุ่มนี้ค่อนข้างมั่นคง หนี้สินที่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินมักจะมีน้อยหรือไม่มีเลย ยิ่งไปกว่านั้น หลายบริษัทมีเงินสดมหาศาลจนเกินความจำเป็น นอกจากเงินแล้ว บริษัทเหล่านี้มักจะมีทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีค่าเพิ่มขึ้นจากมูลค่าทางบัญชีด้วย ดังนั้น ความ “ถูก” ของหุ้นจึงแทบไม่มีข้อสงสัยเลยถ้ามองจากทรัพย์สิน
ข้อสี่ ถ้าวัดความ “ถูก” ของหุ้นจากค่า PE หรือดูจากราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้นก็จะพบอีกว่า หุ้นเหล่านี้มีค่า PE ที่ค่อนข้างต่ำ นั่นคือ เกือบทั้งหมดมีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่า หลายบริษัทมีค่า PE เพียง 7-8 เท่าหรือต่ำกว่าก็มี ดังนั้น สำหรับ Value Investor ที่เพิ่งเข้ามาศึกษาหุ้นเหล่านี้ เขาก็มักจะสรุปทันทีว่านี่คือหุ้นคุณค่าที่น่าสนใจมาก
ข้อห้า ในด้านของการบริหารงานของกิจการ สิ่งที่มักจะพบก็คือ บริษัทน่าจะมีการบริหารที่ดี หลายบริษัทอาจได้รับรางวัลดีเด่นด้านการผลิต หลายบริษัทก็มีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจที่ใช้ได้ มองในด้านของการคุมโรงงานหรือบริหารการขาย หรือการจัดการโดยทั่วไปแล้ว บริษัทเหล่านี้มักอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้น มองโดยผิวเผินแล้ว Value Investor หลายคนก็มักจะสบายใจ และสรุปว่านี่คือหุ้นคุณค่าที่น่าลงทุน
แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกสักเล็กน้อย หุ้นถูกเรื้อรังนั้นมักจะมีจุดอ่อนที่เหมือนกันเกือบทุกบริษัทซึ่งผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ บริษัทเหล่านี้มักมีนโยบายในการจัดสรรเงินที่บริษัททำมาหาได้อย่างที่ผมคิดว่าไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือนักลงทุนทั่วไป แต่อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้บริหารและ/หรือหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็น “เจ้าของบริษัท” โดยที่การจัดสรรเงินสดและผลกำไรของบริษัทมักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
ข้อแรกที่เหมือนกันเกือบทุกบริษัทก็คือ เมื่อมีกำไรบริษัทมักจะจ่ายปันผลในอัตราที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่มีสถานะใกล้เคียงกัน หลายบริษัทจ่ายปันผลเพียง 25-30 % ของกำไรทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้มีหนี้สินที่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินเลย นี่เป็นข้อแรก
ข้อสอง บริษัทเหล่านี้ เนื่องจากมีกำไรต่อเนื่องและจ่ายปันผลน้อย หลายบริษัทจึงมีเงินสดเหลือมาก แต่แทนที่จะจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น กลับนำไปฝากแบงค์หรือซื้อตราสารการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ โดยเหตุผลอาจจะเป็นว่าเพื่อสำรองไว้ใช้ขยายงานหรือรองรับกับภาวะ “วิกฤติ” ในอนาคต บางบริษัทก็นำเงินสดที่มีไปขยายงานโดยเฉพาะในกิจการที่อยู่ในต่างประเทศหรือบริษัท “ในเครือ” มากมายไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยนั้น หวังที่จะเห็นปันผลเพิ่มยากเย็นมากและถ้าเพิ่มก็เพียงเล็กน้อย ในประเด็นนี้ก็อาจจะมีข้อถกเถียงว่าบริษัทต้องการลงทุนเพิ่มเพื่อที่จะได้ทำกำไรมากขึ้นซึ่งก็จะทำให้ผู้ถือหุ้นได้ปันผลมากขึ้นในอนาคต แต่สำหรับผมและ Value Investor อีกหลายคนนั้น อนาคตอาจจะไม่แน่นอน และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าการลงทุนเกิดความเสียหายและอนาคตเราอาจจะไม่ได้อะไรเลย เหมือนกับคำพูดที่ว่า “นกหนึ่งตัวในมือนั้น ดีกว่านกสองตัวในพุ่มไม้”
ข้อสาม บริษัทเหล่านี้มักมีผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของที่ไม่ค่อยได้แสดงตัวต่อสาธารณชน คนที่ออกมาให้ข่าวและแถลงรายงานตอบคำถามต่าง ๆ มักเป็นผู้จัดการที่เป็นลูกจ้างที่ไม่ได้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ มองอีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นว่า เจ้าของตัวจริงนั้นมีกิจการอื่น ๆ ที่มีค่าและต้องการเวลามากกว่ากิจการของบริษัทที่พูดถึง และนี่อาจจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เจ้าของตัวจริงไม่สนใจที่จะจัดสรรเงินของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นผ่านการจ่ายปันผล แต่อาจจะอยากเก็บเงินไว้ในบริษัทแล้วใช้ประโยชน์จากบริษัทแทนเช่น เอาบริษัทไว้ใช้ในการลงทุนกิจการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับกิจการของเครือ เอาบริษัทไว้ใช้เป็นที่ตั้งให้ผู้มีอุปการคุณเป็นกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นลูกจ้าง และอื่น ๆ อีกร้อยแปด
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงข้อสงสัยหรือข้อสังเกตของผม แต่ถ้าถามว่าตกลงเราควรซื้อหุ้นถูกเรื้อรังเพื่อลงทุนหรือไม่? คำตอบของผมก็คือ หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่ “ถูกเรื้อรัง” นั่นแปลว่า โอกาสที่เราจะซื้อตอนหุ้นถูกและขายตอนหุ้นแพงมีน้อยมาก สิ่งที่พอจะหวังได้บ้างก็คือ กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นและราคาหุ้นก็ปรับตัวตามกันไป ซึ่งลักษณะนี้การปรับตัวแบบหวือหวาเร็วและสูงมากก็จะมีน้อย แต่ถ้าซื้อเพื่อกินปันผลก็คงจะพอได้ สิ่งที่สำคัญก็คือ อย่าซื้อหุ้นเหล่านี้เมื่อราคาหุ้นเพิ่งมีการปรับตัวขึ้นไปแรง เพราะหลายครั้งการปรับตัวขึ้นไปนั้นเกิดจากแรงซื้อของใครก็ตามที่เข้ามา และเนื่องจากหุ้นมีสภาพคล่องต่ำราคาจึงขึ้นไปแรง แต่เมื่อแรงซื้อหมด ราคาก็มักจะค่อย ๆ ปรับตัวกลับลงมา ดังนั้น ถ้าจะซื้อหุ้นถูกเรื้อรัง เราควรจะซื้อตอนที่หุ้นอยู่นิ่ง ๆ ในราคาถูกมาก อย่างไรก็ตาม ในการถือหุ้นถูกเรื้อรังนั้น เราอาจจะต้องรับความจริงว่าหุ้นอาจจะไม่ไปไหนนานมาก ซึ่งทำให้มัน “ไม่คุ้ม” กับเวลาที่เสียไปที่เราอาจจะไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาก และนี่ก็คือสิ่งที่บัฟเฟตต์บอกว่า เวลาเป็นเพื่อนที่ดีของกิจการที่ดีเยี่ยมแต่เป็นศัตรูของกิจการพื้น ๆ แม้ว่ามันจะมีราคาถูก

โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
จาก thaivi.com

จินตนาการกับการลงทุน

การที่จะเป็น Value Investor ที่มีความสามารถสูงได้นั้น สิ่งหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ก็คือ การ “จินตนาการ” ฟังดูอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของความเพ้อฝันและเป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้ว การจินตนาการนั้นสามารถที่จะฝึกฝนกันได้ ประเด็นสำคัญก็คือ เราต้องรู้เรื่องอื่น ๆ มากพอที่จะทำให้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องของบริษัทจดทะเบียนและหุ้นที่เราสนใจได้ เมื่อเกิดจินตนาการ เราก็สามารถจะมองต่อไปได้ว่าบริษัทหรือหุ้นที่เราสนใจนั้น ในที่สุดน่าจะเป็นอย่างไร แน่นอน จินตนาการกับของจริงคงจะไม่เหมือนกัน แต่มันก็ให้ภาพที่จะทำให้เราเห็นทิศทางเดินของหุ้น ผมพูดแบบนี้อย่านึกว่าเป็นเรื่องประหลาด ลองนึกทบทวนดูก็จะพบว่าแม้แต่ในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เราก็พบว่า การใช้จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ค้นพบทฤษฎีหรือสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญต่าง ๆ ขึ้นในโลก พูดก็พูด ถ้าคนไม่จินตนาการว่าจะสามารถบินได้อย่างนก เราจะมีการประดิษฐ์เครื่องบินหรือครับ?
ในเรื่องของหุ้นนั้น เนื่องจากว่าผมเน้นการลงทุนในตัวธุรกิจ ดังนั้น ความสำเร็จของธุรกิจโดยเฉพาะในระยะยาวเป็นสิ่งที่ผมจะมองหา บริษัทที่จะประสบความสำเร็จนั้นจะต้องต่อสู้และแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ทั้งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันและที่อยู่ในธุรกิจอื่นแต่สินค้าอาจจะมาทดแทนสินค้าของบริษัทได้ นอกจากนั้น ธุรกิจยังต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายและสังคมและอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแพ้หรือชนะในทางธุรกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ มากมายและที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “กลยุทธ์ในการต่อสู้” กับคู่แข่ง ผู้ชนะคือผู้ที่จะรุ่งเรืองต่อไป ผู้แพ้จะเสียหายย่อยยับ การแข่งขันทางธุรกิจนั้นไม่มีคำว่าปราณีหรือเปิดให้คู่แข่งมีโอกาสฟื้นตัวจากความผิดพลาด ลักษณะการแข่งขันของธุรกิจนั้น ผมรู้สึกว่ามันเหมือนกับการทำสงคราม ดังนั้น สำหรับผมแล้ว บ่อยครั้ง เวลาผมคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัทและตัวหุ้นที่ผมสนใจ ผมมักจะจินตนาการถึงเรื่องของสงคราม และสงครามที่ผมมักคิดถึงก็คือ สงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมันคือสงครามที่ “ครบเครื่อง” ที่สุด
บางคนชอบจินตนาการเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจโดยเปรียบเทียบกับสงครามสามก๊กเช่นเดียวกัน บางคนชอบใช้กลยุทธ์การทำสงครามของซุนหวู่มาจินตนาการว่าบริษัทไหนจะชนะในสงครามการค้า หรือบางคนอาจจะไม่ใช้เรื่องของสงครามเลยแต่อาจจะจินตนาการไปถึงเรื่องกีฬาอย่างเช่นฟุตบอลหรือเทนนิสหรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดนั้นผมคิดว่าไม่เป็นปัญหาถ้าคนที่ทำนั้นได้ศึกษาประวัติศาสตร์และกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่มีการใช้และรู้ว่าฝ่ายไหนแพ้หรือชนะเพราะอะไรและธุรกิจที่เราดูอยู่นั้นน่าจะประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างใกล้เคียงแค่ไหน
นอกจากสงครามแล้ว ผมยังชอบจินตนาการว่าบริษัทจะเป็นอย่างไรในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าหรือแม้แต่อีกหลายสิบปีข้างหน้า การจินตนาการนั้น จะต้องไม่เพ้อฝัน เราจะต้องมีเหตุผลประกอบเช่น การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของคนที่กำลังเกิดขึ้นและเราคิดว่าจะดำเนินต่อไป ความเข้มแข็งของบริษัท ความสามารถและศักยภาพของผู้บริหาร และอื่น ๆ อีกมาก ในการจินตนาการนั้น สิ่งที่ผมมักจะใช้ก็คือ ผมมักจะมองที่ “พื้นฐาน” จริง ๆ ของธุรกิจหรือพูดให้เท่ ๆ อาจจะเรียกว่ามองกันในระดับ Mission หรือภารกิจของบริษัทที่สนองตอบความต้องการของลูกค้าและสังคม เพราะในระยะยาวแล้ว ผลิตภัณฑ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ภารกิจของบริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้นมักไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้าเราเริ่มจากพื้นฐาน เราจะสามารถจินตนาการไปได้ไกลและจะเห็นภาพของบริษัทได้ว่ามันจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหน ในหลาย ๆ ครั้ง ผมก็มักจะเปรียบเทียบบริษัทที่ผมมองอยู่ว่า มันจะมีโอกาสเป็นบริษัทที่คล้าย ๆ กับบริษัทที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่มีอยู่ในประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วหรือไม่
ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามีจินตนาการที่ดี ผมเองก็ตอบไม่ได้ชัด บางทีบางคนอาจจะมีจินตนาการได้ดีกว่าคนอื่นและเป็นความสามารถเฉพาะตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มากสำหรับผมก็คือ การที่เราเป็นคนที่มีความรู้กว้างและหลากหลายมาก ซึ่งความรู้เหล่านั้นต่างก็มักจะมาจากการอ่านหนังสือที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหนังสือที่ “ปฏิวัติ” ความคิดในเรื่องนั้น ๆ ตัวอย่างของหนังสือก็เช่น The Intelligent Investor ของ เบน เกรแฮม ที่เราพูดถึงเสมอ นั่นก็คือในเรื่องของการลงทุน แต่ในเรื่องอื่น ๆ เราก็ควรจะรู้อย่างเช่นในเรื่องของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของ ชาร์ล ดาร์วินส์ หรือเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากความรู้ต่าง ๆ แล้ว ผมคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่สำคัญมากในการที่จะทำให้เรามีจินตนาการที่ดี บางคนอาจจะไม่ค่อยแน่ใจเพราะคำว่าวิชาประวัติศาสตร์ที่เราเรียนในชั้นเรียนนั้นดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรที่จะนำมาใช้ในการจินตนาการได้ แต่ในความหมายของผม ประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมีคนบันทึกไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการเมืองการปกครองแต่รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของธุรกิจ เรื่องของสังคม และอื่น ๆ อีกมาก เรื่องราวเหล่านี้ เมื่ออ่านแล้ว สิ่งที่ผมมักทำก็คือ คิดไปถึงภาพอดีตของยุคสมัยนั้นว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร นี่อาจจะเป็นวิธีการฝึกจินตนาการแบบหนึ่งของผม
เรื่องของจินตนาการนั้น ว่าที่จริงไม่มีกรอบ สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้นเป็นประเด็นเพียงน้อยนิดของสิ่งที่ผมพอจะนึกได้ วิธีหรือกระบวนการสร้างจินตนาการของแต่ละคนอาจจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงซึ่งผมไม่มีอะไรจะเถียงเลย สิ่งที่ผมต้องการจะพูดมากที่สุดก็คือ ในการลงทุนนั้น การจินตนาการเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สำหรับผมแล้ว หุ้นเกือบทุกตัวที่ซื้อ มักจะเกิดจากจินตนาการด้วย

โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
จาก thaivi.com

ทำไมหุ้นไทยไม่ไปไหน

เท่าที่อ่านบทวิเคาระห์เกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยมาหลายปี นักวิเคาระห์ดัชนีตลาดหุ้นไทยมักออกมาฟันธงว่าหุ้นไทยจะไป 1,000 จุดเป็นประจำทุกปี เป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา ดัชีหุ้นไทยไม่เคยขึ้นไปสูงเกิน 1,000 จุดสักครั้งเดียว จุดที่ใกล้เคียงที่สุดคือในช่วงปลายปี 2547 ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นขึ้นไปถึง 920 จุดก่อนที่เกิดปัญหาซับไพร์มต้นปีจนดัชนีร่วงลงไปถึง 720 จุดก่อนที่ปรับตัวกลับมาที่ 870 จุดในเดือนพฤษภาคม และลงมาเหลือ 800 จุดในปัจจุบันภายในเวลาสองสามอาทิตย์
เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศอาเซียนที่เกิดวิกฤตค่าเงินด้วยกันแล้ว ดัชนีหุ้นประเทศอื่นๆในแถบนี้ต่างปรับตัวเกิน1,000 จุดไปนานแล้ว ไม่นับตลาดหุ้นจีนที่กำลังร้อนแรง หรือตลาดหุ้นเวียดนามที่เพิ่งเปิดดำเนินการต่างมีดัชนีแซงหน้าตลาดหุ้นไทยไปกันแทบทุกประเทศ ตัวอย่างเช่น ดัชนีตลาดหุ้นมาเลเซียในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2541 ดัชนีลดลงไปเหลือ 261 จุด ปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 1,253 จุด ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซียปีดที่ 2,362 จุด ดัชนีตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ปัจจุบันอยู่ที่ 3,028 จุด ตลาดหุ้นเหล่านี้ต่างประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ด้วยกันทั้งสิ้นและดัชนีลดลงไม่ต่างจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยสักเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคนี้ต่างให้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดหุ้นไทยมาก รวมทั้งปรับตัวเกิน 1,000 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังขึ้นๆลงๆอยู่แถวๆ 700-900 จุดไม่ไปไหนเสียทีมาหลายปีแล้ว
เหตุใดตลาดหุ้นไทยถึงไม่สมารถปรับตัวเกิน 1,000 จุดเหมือนประเทศอื่นๆได้เสียที น่าจะมีสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
ข้อแรก สาหตุจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2549 นับเป็นเวลานานกว่าสิบปีที่เหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย การมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งผู้บริหารประเทศมาจากการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความเชื่อถือมากนัก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยมีรัฐบาลมาจากเลือกตั้งเป็นเวลานาน อยู่ๆทหารออกมาฉีกรัฐธรรมมูญแล้วตั้งตนเองปกครองประเทศ สำหรับประเทศในเอเซียนั้นคงหาได้ยาก ยกเว้นหากเกิดในประเทศด้อยพัฒนาอย่างในประเทศในอาฟริกาอาจไม่น่าแปลกใจนัก นอกเหนือจากนั้นการที่มีผู้คนออกมาประท้วงรัฐบาลบ่อยๆจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ ดูเหมือนเหล่านักประท้วงหล่านั้นคิดว่าวิถีทางนี้เป็นสิ่งที่น่าปฏิบัติและน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงออกมาประท้วงกันอีกรอบเพื่อไล่รัฐบาลที่ตนเองไม่ชอบออกไป แต่ที่แปลกคือประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา มีคนไม่ชอบประธานาธิบดีบุชอยู่มากกว่าครึ่งประเทศ แต่ก็ไม่มีใครใช้วิธีการประท้วงและปฏิวัติรัฐประหารเพื่อไล่ประธานาธิบดีบุชแต่อย่างใด ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสามารถทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
เหตุผลอีกข้อหนึ่ง คือ ตลาดหุ้นไทยไม่มีหุ้นใหญ่เข้าตลาดมาเป็นเวลานานหลายปี ตั้งแต่การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตถูกศาลระงับไป ตลาดหุ้นไทยก็ไม่มีหุ้นจากบริษัทใหญ่ๆหรือรัฐวิสาหกิจขนาดแสนล้านเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นอีกเลย รวมทั้งการที่บริษัทเบียร์แห่งหนึ่งถูกประท้วงจนต้องไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน ทำให้มาร์เกตแคปของตลาดหุ้นไทยต้องอาศัยหุ้นบริษัทเดิมๆที่จดทะเบียนอยู่ก่อนแล้วเป็นตัวผลักดันดัชนี ซึ่งถ้าหุ้นบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถปรับตัวเพิ่มได้มาก ดัชนีหุ้นไทยก็ไม่สามารถไปไหนไกลได้
ดังนั้นการผลักดันให้ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 จุดนั้นทำได้โดยแปรรูปรัฐวิสากิจขนาดใหญ่เข้าตลาดหุ้นอย่างโปร่งใส และเลิกวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่ประเทศไทยเผชิญอยู่เป็นเวลากว่า 50 ปี โดยการเลิกประท้วง เลิกปฏิวัติรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลอยู่จนครบเทอม จากนั้นให้ประเทศเข้าสู่วงจรของการเลือกตั้งตามวิถีทางของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที

โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ
จาก thaivi.com

Wednesday, November 26, 2008

เจาะกลยุทธ์..นักธุรกิจ-นักลงทุน คนดัง สามวัย สามสไตล์ลงทุน

นอกจากช่วงวัยที่แตกต่างกันแล้ว กลยุทธ์หรือสไตล์ลงทุนยังไม่ซ้ำแบบของ "ชายต่างวัย" 3 นักธุรกิจ นักลงทุนชื่อดัง อย่าง.. "ธนพ เอี่ยมอมรพันธ์" "ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา" และ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ยังมีแนวทางลงทุนของตัวเอง เพื่อต้านภาวะวิกฤติเงินเฟ้อได้อย่างน่าสนใจ
ในวัยเพิ่งเริ่มต้นสร้างครอบครัวของ "ธนพ เอี่ยมอมรพันธ์" นักธุรกิจและนักลงทุน บอกว่า กลยุทธ์การลงทุนของเขาในช่วงนี้ จะไม่ทิ้งเงินลงทุนไว้ในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และทองคำเลย เนื่องจากมองว่าทุกตลาดมีความเสี่ยงเกินไป จึงเน้นเก็บเป็นเงินสดมากที่สุด
โดยเขาใช้วิธีเก็บเงินสดไว้ในรูป Currency หรือลงทุนในค่าเงินสกุลต่างๆ ของโลก 7 สกุล ไม่ว่าจะเป็นสกุลดอลลาร์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย หยวนของจีน เยนของญี่ปุ่น เงินยูโร เงินสวิสฟรังก์ และปอนด์อังกฤษ
เป้าหมายเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของเงินลงทุนไปยังเงินสกุลต่างๆ ของโลก แทนที่จะฝากเงินไว้กับสกุลใดสกุลหนึ่ง
"ตอนนี้ผมไม่มีเงินลงทุนในหุ้น บอนด์ และทองคำเลย พอร์ตลงทุนเป็น 0% แต่จะกระจายไปเก็บไว้ในค่าเงิน 7 สกุลหลัก เพราะมองว่าในโลกนี้รัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีมูลค่าของค่าเงินไม่เหมือนกัน ผมจึงใช้วิธีให้ค่าสกุลต่างๆ เฮดจ์ระหว่างกันเอง ถ้าช่วงไหนที่ค่าเงินบางสกุลมีค่ามากขึ้น ผมก็จะโยกเงินลงทุนไปในสกุลที่มีค่าขึ้นมากกว่า แต่จะรอจังหวะว่าอะไรน่าลงทุน"
ส่วนการลงทุนในสินค้าคอมมอดิตี้อย่างน้ำมัน หรือทองคำ ธนพ มองว่า แม้คนจะมองกันว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไปถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรล แต่เขาเห็นว่าไม่น่าจะใช่จังหวะเวลาที่น่าลงทุนในช่วงนี้แล้ว รวมถึงลงทุนในทองคำ ด้วย
"ผมดูว่าไทมิ่งไม่น่าจะลงทุนในน้ำมัน หรือทองคำ เพราะคิดว่าราคาทองคำไม่น่าจะไปถึง 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และถ้าจะลงทุนก็ควรต้องซื้อก่อนนานมาก"
แต่สำหรับ "ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา" นักธุรกิจและนักลงทุน ในวัย 43 ปี กลับมีกลยุทธ์หรือสไตล์การลงทุนที่ต่างออกไป
เขากล่าวว่า ไลฟ์สไตล์ของแต่ละช่วงชีวิตของเขามีผลต่อการลงทุน อย่างเขาตอนนี้อายุ 43 ปี จะมีแนวทางการลงทุนที่ต่างจากตอนอายุ 20 ปี ที่พอได้เงินมาก็จะใช้หมดไม่ห่วงกลัวอนาคต
แต่พอมีอายุมากขึ้นเช่นตอนนี้ ก็เริ่มสร้าง “Cash Machine” หรือเครื่องมือสร้างเงินสดให้แก่ตัวเองและพ่อแม่ ซึ่งก็คือ การสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองโดยตั้งบริษัทขึ้นมา
“ผ่านไป 10 ปีตอนนี้เริ่มเห็นแคชเข้ามาชัดเจนขึ้น เพราะธุรกิจเริ่มมีกำไรหลังจากที่เจ๊งมาก็มาก”
ด้านกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ โสรัชย์ บอกว่า จะมองเรื่องความมั่นคงของเงินลงทุนเป็นหลักไว้ก่อน โดยจะไม่ลงทุนในสิ่งที่หวือหวา เพราะไม่ต้องการเสียเงินต้นไป และจะต้องมีเงินสดไว้เป็นสภาพคล่องด้วย
“ศัตรูสำคัญของการลงทุนก็คือ เงินเฟ้อ ผมจะสู้กับเงินเฟ้อ เพื่อให้เงินที่ลงทุนไปแล้วได้รับผลตอบแทนกลับคืนที่สูงกว่า”
พอร์ตการลงทุนของโสรัชย์ช่วงนี้ส่วนใหญ่จึงเทน้ำหนัก 60% ของเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่คุ้มครองเงินต้น แต่ต้องได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตร เป็นต้น
แต่จะมีเงินอีกส่วนหนึ่งราว 10% จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การเทรดดิ้งหุ้น ด้วยเช่นกัน
สุดท้าย เป็นเงินที่กันไว้สำรองฉุกเฉินราว 30% ของเงินลงทุนส่วนตัว
“กองทัพหน้า จะเหมือนกับหน่วยคอนมานโดไว้บุกลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยง หรือเทรดดิ้งในหุ้น ส่วนกองทัพหลัก จะเน้นต้องมีผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ และเน้นคุ้มครองเงินต้น ส่วนที่เหลือจะกันไว้เป็นกองเสบียงสำรองเมื่อเวลาฉุกเฉินของชีวิต”
ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจ ช่วงวัยกลางคนถือเป็นช่วงที่สร้างรายได้ได้มากที่สุด โสรัชย์บอกว่า สิ่งที่จำเป็นและต้องระมัดระวังให้มากก็คือ มักจะถูกจูงใจให้ไปลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่อย่าลืมนึกถึงความเสี่ยงสูงที่แฝงอยู่ไว้ด้วย
การลงทุนที่ดีของวัยมากกว่า 40 ปี เราต้องดูการลงทุนที่มูลค่าแท้จริงและเลือกเฟ้นหา โดยต้องแยกให้ออกว่าระหว่างความฝันที่เราตั้งไว้ว่าจะดูแลครอบครัวอย่างไรเมื่อเกษียณอายุกับความเพ้อฝัน เพราะช่วงวัยนี้จะมีเงินสดมาก ทำให้การลงทุนขยายตัวและมีเครดิตที่ดี
ช่วงนี้จึงต้องระมัดระวัง เพราะจะวูบได้ง่ายกับการลงทุน ซึ่งจะวิ่งเข้ามาหามา
อยากแนะนำว่า ความฝันกับเพ้อฝันต้องแยกให้ชัดเจน เพราะเพ้อฝันคือจะมองผลตอบแทนสูงที่เสนอให้ ฉะนั้น จึงไม่ควรออกนอกธุรกิจที่เป็นเฉพาะทาง และลงทุนในสิ่งที่มีทักษะความรู้ชัดเจน"
นอกจากการวางแผนลงทุนแล้ว สิ่งสำคัญของคนในวัยนี้ก็คือ การวางแผนการศึกษาเพื่อลูก
“เรื่องลูกคิดว่าปัจจุบันค่าเล่าเรียนได้เพิ่มสูงขึ้นมาก และมีการศึกษาหลายรูปแบบ จึงจะกันเงินไว้ก้อนหนึ่งเพื่อการศึกษาลูกในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท แต่การวางแผนการศึกษาจะขึ้นอยู่กับแคช แมชชีน หรือรายได้ของแต่ละคนด้วย”
นอกจากวางแผนการศึกษาให้ลูกแล้ว โสรัชย์ยังวางแผนด้านดูแลสุขภาพอีกด้วย
“ผมแต่งงานช้า มาแต่งงานเมื่อตอนอายุ 37 ปี ตอนนี้มีลูก 3 คน คนโตอายุ 5 ขวบ 3 ขวบ และ 2 ขวบ กว่าลูกจะมีวุฒิภาวะก็อีกประมาณ 20 ปีกว่า เรื่องส่วนตัวจึงต้องวางแผนดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย สำหรับผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อไม่ให้เป็นอัลไซเมอร์เสียก่อนที่ลูกจะโต”
ด้านการทำธุรกิจก็เช่นกัน เขาบอกว่า ได้ประกันความเสี่ยงธุรกิจไว้โดยแยกเงินไว้หลายส่วนทั้งในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนมันนี่มาร์เก็ต รวมถึงการกู้เงินธนาคาร หรือการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ เพื่อขยายความมั่นคงของธุรกิจ
“ช่วงวัยนี้ต้องระมัดระวังการขยายตัวธุรกิจและลูกหนี้ เพราะมองว่าประเทศมีความเสี่ยง เราต้องพิจารณาตลอดว่า เมื่อใดที่ยอดขายเราลดลงครึ่งหนึ่ง เราจะดูแลพนักงานต่อไปได้หรือไม่ ส่วนการลงทุนหลักๆ ในพอร์ตของผมจะผ่านกองทุนรวม ถ้าไม่มั่นใจก็ลงทุนแบบคุ้มครองเงินต้น ผลตอบแทนอาจไม่มากแต่ปลอดภัย แต่มีเงินบางส่วนลงทุนในหุ้นด้วย” โสรัชย์ กล่าว
ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักมองว่า การลงทุนในหุ้น เป็นเรื่องอันตรายสำหรับคนที่มี "อายุมาก" หรือไม่เหมาะสำหรับคนในวัยเกษียณ เพราะมีความเสี่ยงสูง และควรหลีกเลี่ยงลงทุน เช่นในช่วงวิกฤติเงินเฟ้อสูงเช่นนี้ แต่สำหรับ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุน Value Investor กลับมีคอนเซปต์การลงทุนในมุมต่างว่า ยิ่งอายุมาก จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นสัดส่วนมากๆ เพราะหุ้นจะทำงานแทนเรา ถ้าไม่ลงทุนก็เหมือนหยุดทำงาน
“ช่วงตอนที่เป็นหนุ่มยังสามารถทำงานได้ จึงไม่ต้องลงทุนมาก แต่เมื่ออายุมากขึ้นผมมีคอนเซปต์ว่า ต้องลงทุนในหุ้นมากๆ เพื่อให้หุ้นทำงานแทนเรา เพราะถ้าหากเกษียณแล้ว ไม่มีงานทำ ก็เท่ากับกินของเก่า ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีโอกาสที่จะไม่มีเงินใช้ในอนาคต”
ดร.นิเวศน์บอกว่า การลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีระยะยาว จะรู้จักหากิจการลงทุนที่มีความมั่นคง จ่ายปันผลสม่ำเสมอ มีการเติบโตทุกปี จะทำให้การลงทุนไม่มีความเสี่ยง เพราะบริษัทจะมีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ราคาหุ้นไม่ขึ้น แต่ก็จะไม่ขาดทุน เพราะยังได้เงินปันผล บางบริษัทให้ปันผลถึง 10% ต่อปี
ส่วนการลงทุนในช่วงนี้ ดร.นิเวศน์กล่าวว่า พอร์ตลงทุนส่วนตัวยังลงทุนในหุ้นทั้ง 100% ของเงินลงทุน แม้ว่าในปีที่ผ่านมา (2550) ผลตอบแทนจากหุ้นจะแย่กว่าตลาด โดยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 7% แพ้ตลาดที่ได้ 26% ต่อปี
"แต่เราจะไม่เปรียบเทียบตลาด ผมลงทุนได้ 7% ก็ดีกว่าฝากเงิน หลักการของผมขอเพียงอย่าให้ขาดทุนเท่านั้น ขณะที่ค่าพีอีหุ้นไทยที่ 10 เท่าขณะนี้ ใกล้เคียงกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถ้าเข้าลงทุนและถือยาวได้ 4-5 ปี เชื่อว่าดัชนีต้องมากกว่าวันนี้ ก็จะไม่ขาดทุน เพราะยังได้รับปันผล" ดร.นิเวศน์ กล่าว

บทความจาก bangkokbizweek

Sunday, February 17, 2008

วิธีเลือกลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางการเงิน

น.ส. สุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต กล่าวผ่านรายการ Smart Money ว่า ในภาวะที่ราคาหุ้นผันผวน ผู้ลงทุนควรลงทุนด้วยความปลอดภัย ซึ่งต้องดูจากความต้องการของแต่ละคนว่ายอมรับความเสี่ยง และพอใจระดับผลตอบแทนในระดับใด ซึ่งการลงทุนที่น่าสนใจมีหลากหลายวิธี ดังนี้- การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแห่งซึ่งมีความแตกต่างกัน ผู้ลงทุนควรฝากเงินอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3%
- กองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีความน่าสนใจในภาวะที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากประสบปัญหาเงินบาทแข็งค่า และปัญหา Subprime ผู้ลงทุนควรลงทุนระยะยาวเกินกว่า 1 ปี และในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้คาดว่าจะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์กว่า 5 หมื่นล้านบาท และบริษัทเอกชนก็จะทยอยออกตราสารหนี้ในรูปแบบหุ้นกู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแห่งว่าจะออกหุ้นกู้อายุเท่าใด อาจเป็นได้ตั้งแต่ 2 - 7 ปี ซึ่งผู้ลงทุนควรดูจังหวะของเงินลงทุน และเปรียบเทียบผลตอบแทนก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน
- กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เหมาะสำหรับถือลงทุนในระยะยาว ให้ผลตอบแทน 5-7% ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 กองทุน ซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างมาก เนื่องจากราคาที่ดินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ก็อาจทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ได้
- Structure Note เป็นการรวมตราสารอนุพันธ์ และตราสารหนี้เข้าด้วยกัน ถือเป็นความท้าทายใหม่ ในการออกแบบการลงทุนในอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ต่าง ๆ เช่น SET 50 หรือ ทองคำ โดยหากเงื่อนไขการลงทุนเป็นไปตามที่กำหนด เช่น ดัชนี SET 50 แกว่งตัวในระดับที่กำหนดไว้ ก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มเติม
- ทองคำ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการลงทุนในทองคำโดยตรง หรือผ่านกองทุน โดยในขณะนี้มีการเก็งกำไรจากมูลค่าทองคำที่ผันผวนตามราคาน้ำมัน และราคาของโลหะในตลาดโลกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน สุวภาบอกด้วยว่า ไม่ว่าผู้ลงทุนจะเลือกลงทุนแบบใด ก็ควรที่จะพิจารณา ให้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุน มองว่าเป็นเรื่องของความผันผวนมากกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ย 7% มีความผันผวนน้อย อัตราดอกเบี้ย 20% มีความผันผวนมาก แต่ในบางครั้งกรณีที่มีความเสี่ยงมาก ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนต่ำก็เป็นได้ ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนจึงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ และระดับการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนเป็นหลัก


บทความจาก Money Channel

ทางเลือกลงทุนสำหรับคนชอบเสี่ยง

สุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต ได้กล่าวถึงทางเลือกการลงทุนผ่านรายการ Smart Money ว่า ปัจจุบันตลาดทุนไทยมีตราสารที่สามารถลงทุนได้หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) Exchange Traded Fund (ETF) ฟิวเจอร์ส และออปชัน เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าการลงทุนในสินค้าเหล่านี้จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของดัชนี โดยเฉพาะหุ้น แต่การลงทุนในหุ้นก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ 12% ต่อปี โดยยังคงมีราคาถูกหรือระดับ P/E เฉลี่ยทั้งตลาดเพียง 11 เท่า และยังมีแนวโน้มจ่ายปันผลได้ในเดือนเมษายน - พฤษภาคมอีกด้วย ทำให้การลงทุนในหุ้นจึงยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจในขณะนี้สำหรับ Exchange Traded Fund (ETF) กองแรกของไทย หรือ “TDEX” นั้น เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น 50 ตัวเหมือนกองทุนที่อ้างอิงการลงทุนตามดัชนี SET50 แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ TDEX สามารถตรวจสอบมูลค่าหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา (Real time) ซึ่งสะท้อนดัชนี SET50 ตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วยส่วน Warrant หรือหุ้นลูกนั้น แม้ว่าจะมีราคาใช้สิทธิและราคาหุ้นแม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จากฐานราคาที่มีขนาดเล็ก ทำให้ราคาสามารถเหวี่ยงตัวได้มากกว่าหุ้นแม่ ทั้งนี้ ราคา Warrant จะปรับเข้าสู่จุดสูงสุดเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งอายุ เช่น วอร์แรนท์อายุ 10 ปี จะมีราคาสูงที่สุดเมื่อวอร์แรนท์นี้อายุ 5 ปี และยิ่งวอร์แรนท์มีอายุคงเหลือนาน ก็ยิ่งมีราคาใช้สิทธิสูงด้วยสำหรับ SET50 Index Futures และ SET50 Options นั้น นักลงทุนสามารถใช้ทำกำไรได้ทั้งในช่วงที่ตลาดขาขึ้นและขาลง โดยหากนักลงทุนมั่นใจว่าดัชนี SET50 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็สามารถเข้าทำสถานะ Long Futures ควบคู่กับการซื้อหุ้น ซึ่งจะสามารถทำกำไรได้ 2 ต่อ และหากคาดการณ์ว่าดัชนีมีแนวโน้มเป็นขาลง ก็สามารถ Short Futures ไว้ได้ เพื่อประกันความเสี่ยงจากราคาหุ้นส่วนความแตกต่างของการเลือกลงทุนในหุ้นหรือกองทุนนั้น สุวภากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความสามารถในการติดตามตลาดและความชอบของนักลงทุน โดยหากเป็นนักลงทุนที่มีเวลาติดตามตลาดและมีวินัยในการลงทุนก็อาจเลือกลงทุนในหุ้นเองได้ แต่หากเป็นผู้ที่ไม่มีเวลา ก็สามารถฝากให้ผู้จัดการกองทุนดูแลให้แทนได้เช่นกัน แต่นักลงทุนก็ไม่ควรพลาดการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ด้วย เพราะสามารถคาดหวังได้ว่าจะสร้างผลตอบแทนสูงขึ้นได้ในระยะยาว ส่วนการตัดสินใจลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญนั้น จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุน โดยหากเป็นนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ไม่สนใจเรื่องสภาพคล่องของหุ้น หรือเป็นผู้ที่กังวลในสถานการณ์ของบริษัทจดทะเบียนนั้น ๆ ก็ควรเลือกลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ เพราะมีความปลอดภัยจากการลงทุนสูงกว่านอกเหนือจากการลงทุนในตราสารประเภทต่าง ๆ แล้ว สุวภายังแนะนำว่า นักลงทุนควรกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ให้เหมาะสม (Asset Allocation) ด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และนักลงทุนก็ควรติดตามสภาวะการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน

บทความจาก Money Channel

Wednesday, February 6, 2008

ทำสัญญาประกันภัยอย่างไร

การซื้อประกันชีวิตไม่เหมือนกับการซื้อสินค้าที่มีรูปลักษณะ ซื้อสินค้า เช่น ซื้อตู้เย็น เอาเงินไป ตรวจดูตู้เย็นที่จะซื้อ แล้วขนกลับไปมีใบรับรองสินค้า หากเสียหายภายใน 1 ปี จะซ่อมให้ฟรี ยกเว้นการเสียหายเกิดจากการใช้หรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไหล่
หรือการซื้อที่ดิน เอาเงินไป เอาโฉนดไปโอนกันที่ที่ดินจังหวัด จบ สัญญามีไหม ถ้ายังไม่โอน ก็ทำสัญญาจะซื้อจะขาย ถ้าโอนกันแล้วมีภาระเรื่องเงินหรือไม่ ถ้ายังมี ก็ทำสัญญาอีกตัว ถ้าจำนองก็เปลี่ยนมือกันอย่างนี้เป็นต้น
แต่สัญญาประกันชีวิต อยู่ตรงไหน ..
ส่วนของสัญญาประกันชีวิตที่ใช้เป็นหลักฐาน เริ่มกันตั้งแต่ใบคำขอเอาประกันภัย ใบยืนยันหรือแถลงสุขภาพ ใบตรวจสุขภาพ เอกสารประกอบอื่นๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รวมไปถึงกรมธรรม์ประกันชีวิตที่บริษัทออกให้กับผู้เอาประกันภัย
ปกติสัญญาอื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญญาประกันภัย จะต้องมีลายเซ็นของทั้งสองฝ่ายลงนามและมีพยานเซ็นเป็นสักขีพยาน แต่สัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัย กับผู้แทนบริษัทจะเซ็นสัญญากันคนละฉบับ ผู้เอาประกันก็จะเซ็นในส่วนเอกสารที่ส่งบริษัทคือใบคำขอ ใบแถลงสุขภาพ ใบตรวจสุขภาพเซ็นรับรอง สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ
แต่ส่วนของบริษัทก็คือการรับรองการรับประกันภัย ที่ปรากฏในใบหน้าของเอกสารกรมธรรม์ประกันชีวิต และเนื้อในของกรมธรรม์ซึ่งเราเรียกกันว่าเงื่อนไขกรมธรรม์บริษัทจะจ่าย จะไม่จ่าย จ่ายอย่างไร หรือถ้าไม่จ่ายทำอะไรต่อไป จะอยู่ในเงื่อนไขนั้น
ส่วนของบริษัทนี้สำคัญมาก เพราะขนาดกรมการประกันภัยให้ความสำคัญมอบสิทธิ์กับลูกค้าเมื่อรับกรมธรรม์แล้วสามารถอ่านทบทวนความพึงพอใจ ว่าตรงกับที่ตัวแทนของบบริษัทเคยมาอธิบายให้ฟังหรือไม่ หรือตรงกับใจตนเองหรือไม่ ถ้าพอใจก็สมบูรณ์ แต่ถ้าไม่พอใจให้แจ้งบริษัทเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับจากวันรับกรมธรรม์ ก็สามารถยกเลิกการรับประกันภัยครั้งนั้นได้และจะได้รับเบี้ยประกันภัยคืนภายหลัง โดยที่บริษัทไม่สามารถคัดค้านแต่อย่างใด
ต่อไปนี้ จะเป็นการทำความเข้าใจถึงสัญญาประกันชีวิต 2 ส่วนดังกล่าวข้างต้นให้ทราบอย่างละเอียด
ส่วนแรกที่ผมบอกว่า เป็นของผู้เอาประกันภัย
ในการตัดสินใจทำประกันชีวิต นอกจากจะพิจารณาถึงแบบของการประกันชีวิตและความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว การกรอกใบคำขอเอาประกันภัยมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะใบคำขอเอาประกันภัยจะใช้เป็นหลักฐานในการแสดงเจตนาการทำประกันชีวิตและมีผลต่อการพิจารณารับประกันภัยด้วย
บริษัทได้ทำแบบฟอร์มลักษณะตอบคำถาม ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวต้องขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ผู้เอาประกันภัยสามารถกรอกหรือทำเครื่องหมายได้ไม่ยากนัก ต้องกรอกและทำเครื่องหมายได้ไม่ยากนัก ต้องกรอกและทำเครื่องหมายให้ครบถ้วนทุกแห่ง มิฉะนั้นบริษัทจะไม่ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้
ข้อสำคัญที่สุดคือ ต้องกรอกใบคำขอเอาประกันภัยตามความเป็นจริงทุกประการด้วยตนเอง หรือหากผู้อื่นกรอกให้จะต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนลงลายมือชื่อหากปิดบังหรือไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัย
บริษัทอาจบอกล้างกรมธรรม์ประกันภัยได้ แม้ว่าจะได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว หรือหากผู้เอาประกันภัยถึงแก่กรรมแล้ว บริษัทก็มีสิทธิบอกล้างกรมธรรม์ประกันภัยได้ ผู้รับประโยชน์ก็จะไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย รายละเอียดในใบคำขอเอาประกันภัย จะประกอบด้วย
1. ชื่อ-ชื่อสกุล และอายุของผู้เอาประกันภัย 2. ที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย 3. อาชีพของผู้เอาประกันภัย 4. จำนวนเงินเอาประกันภัย 5. ผู้รับประโยชน์ 6. ประวัติการทำประกันชีวิต 7. ประวัติสุขภาพของผู้เอาประกันภัย
ส่วนที่สองคือ ส่วนของกรมธรรม์ประกันภัย
เมื่อผู้เอาประกันภัยตกลงทำประกันภัยและกรอกใบคำขอเอาประกันภัย พร้อมทั้งชำระเบี้ยประกันครบถ้วนแล้ว บริษัทก็จะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องอ่านกรมธรรม์ประกันภัยโดยละเอียด เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตรงกับความต้องการหรือไม่ และศึกษาเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมทั้งหน้าที่และสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ องค์ประกอบของกรมธรรม์ประกันภัยจะประกอบด้วย
1. หน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย เป็นรายละเอียดที่แสดงให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบว่า เมื่อบริษัทตกลงทำสัญญาประกันภัยแล้ว จะระบุรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ คือ
ชื่อ ที่อยู่บริษัท ชื่อและชื่อสกุล เอาประกันภัย อายุ เพศ ระยะเวลาเอาประกันภัย ระยะเวลา ชำระเบี้ยประกันภัย วันเริ่มสัญญาประกันภัย วันเริ่มสัญญาประกันภัย วันครบกำหนดสัญญาประกันภัย และแบบประกันชีวิต และสัญญาเพิ่มเติมที่ต้องมีการความคุ้มครอง พร้อมกับจำนวนเบี้ยประกันภัย และจำนวนเงินเอาประกันภัย และที่สำคัญต้องมีการลงลายมือชื่อกรรมการผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเพื่อพร้อมประทับตราของบริษัทไว้ด้วย
2. ข้อกำหนดการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จะระบุถึงความคุ้มครอง เงื่อนไขการจ่ายเงินและผลประโยชน์ที่ผู้เอาประกันภัยพึงได้รับ
3. สัญญาหรือกรมธรรม์ประกันภัย เป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่บริษัทมีต่อผู้เอาประกันภัย เช่น การแถลงอายุหรือเพศคลาดเคลื่อน การเปลี่ยนแบบประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย การเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย สิทธิและการใช้สิทธิในกรมธรรม์ประกันภัย การชำระเบี้ยประกันภัย ระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้น
4. ตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันไม่สามารถชำระเบี้ยประกันภัยได้ ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิด้วยการขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย การเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เป็นแบบใช้เงินสำเร็จหรือขยายเวลา และในกรณีที่กรมธรรม์มีผลคับ และกรมธรรม์มีมูลค่าเวนคืนเงินสดแล้ว ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิในการก็เงินได้อีกด้วย
ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่ประสงค์หรือสนใจจะทำประกันชีวิต ก็คงจะรู้สึกอบอุ่นและสบายใจได้ว่าสัญญาประกันชีวิตมีจริง มีมากรายละเอียดและสามารถนำเป็นหลักฐานในระยะเวลา 10 - 20 ปี ที่เราทำประกันชีวิตไว้ได้อย่างแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง


บทความจาก นิตยสาร Thailand Insurance

ออมเงินเพื่อลูก

เมื่อชีวิตใหม่เกิน คนที่เป็นพ่อแม่ ต้องมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกิน การนอน สุขภาพ สนุก แบบยุ่งๆ ตลอดเวลา ต้องเป็นกังวลเรื่องสุขภาพ การเรียน จนกว่าลูกจะสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเอง หรือยาวไปถึงชีวิตครอบครัวเลยทีเดียว
ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้น คนที่เป็นพ่อ แม่ ควรจะต้องมีการวางแผนเรื่องการเงินอย่างรอบครอบ เพราะแต่ละช่วงวัยของการเปลี่ยนแปลง จะมีความจำเป็น และเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และความจำเป็น
การวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ พ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ มือใหม่ การประกันชีวิต ดูจะเป็นสิ่งที่จะสามารถตอบคำถาม และตอบสนองความต้องการ ที่กล่าวมาแล้วได้ทุกข้อทีเดียว เพราะวางแผนผ่าน ระบบประกันชีวิต เป็นการช่วยสร้างวินัย ในการออม ได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับพ่อแม่ ว่าในอนาคตลูกของคุณ จะได้รับความคุ้มครอง ในเรื่องของสุขภาพ เรื่องของทุนการศึกษา และมีเงินออมใช้ยามฉุกเฉินได้
เนื่องจาก การทำประกันเพื่อลูก ในปัจจุบัน มีความหลากหลาย ซึ่งพ่อแม่สามารถเลือกที่จะทำซื้อได้ให้ตรงกับความต้องการของลูก เช่น ทำประกันเพื่อความคุ้มครองด้านการศึกษา หรือทำประกันเพื่อสร้างสวัสดิการการรักษาพยาบาล หรือ อาจจะเผื่อไว้สำหรับในอนาคต ของลูกในเรื่องหลังจากที่ลูกสำเร็จการศึกษาเลยก็ยังได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ ที่มีอยู่
ทั้งนี้วิธีการง่ายๆ สำหรับพ่อ แม่ ไม่ต้องกังวลว่า ลูกยังเล็กใครจะเป็นผู้รับผลประโยชน์เพราะลูกยังเล็กเกินไป ตัดสินกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จะต้องถูกระบุชื่อว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์ก็ย่อมต้องเป็นลูก เพียงแต่ พ่อ แม่ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเท่านั้น
เพราะคนที่มีสิทธิ์ บนกรมธรรม์ไม่ใช่คนจ่ายเงิน แต่ถ้าใช้ชื่อพ่อ หรือแม่ เป็นผู้เอาประกัน ลูก จะได้รับผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อครบอายุสัญญาและพ่อ หรือแม่ได้เงินคืน หรือ ตอนที่พ่อ หรือแม่ เสียชีวิต ลูกก็จะได้รับผลประโยชน์ นอกจากนี้หากพ่อหรือแม่เป็นผู้เอาประกันเอง ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหยดภาษีอีกด้วย
แต่หากใช้ชื่อ ลูก เป็นผู้เอาประกัน แบบนี้ดีตรงที่ลูก จะได้รับ คือ 1. ความคุ้มครอง 2. เป็นการออมเงินให้ลูกในยามเจ็บป่วย โดยที่ความคุ้มครองยังอยู่ครบ เปรียบเสมือนกับเป็นสวัสดิการของลูก แถมยังมีเงินออมไว้ใช้ เมื่อคบสัญญาอีกด้วย
สำหรับข้อดีอีกประการหนึ่งของการทำประกันชีวิตให้ลูกคือ ความมั่นใจเรื่องของอนาคต และการศึกษาของลูก ตรงนี้หาก พ่อ แม่ ศึกษาถึงแบบประกัน ประกันประเภทเพื่อการศึกษาของลูก จะเห็นว่ามีหลายบริษัทประกันชีวิต ที่มีสินค้าประเภทนี้ที่มีความหลากหลาย ไว้ให้เลือกมากมาย ลองนำแบบประกันหลายๆ แบบ และหลายบริษัทมาเปรียบเทียบ โดยนำหลักของความพึงพอใจ เป็นที่ตั้ง และบวกลบ คุณ หาร ด้วย เงินในกระเป๋า ซึ่งต้องเป็น แบบและทุนประกันที่ต้องไม่สร้างภาระ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ให้กับครอบครัว แล้วตัดสินใจเลือกได้เลยรับรอบว่าดีแน่นอน
หรือจะใช้หลัก และวิธีการคิด ง่ายๆ ในการสร้างกองทุนประกันชีวิต คือย้อนกลับไปดูรายได้ของคุณ ว่ามีเท่าไหร่ แล้วชักออกมา 10-15% สำหรับจ่ายเบี้ยประกันภัยในแต่ละปี แต่ถ้ามันยังไม่มากพอ ก็สามารถที่จะซื้อเพิ่มได้ตามที่ ความสามารถ และกำลังทรัพย์ที่มี และคาดว่าจะหาได้ตลอดอายุสัญญาประกันภัยที่ซื้อไว้
นอกจากนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ยังสามารถที่จะเลือกที่ความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันต่ำ ซึ่งเหมาะสำหรับการสร้างกองทุนระยะยาว ที่เหมาะสำหรับประกันเฉพาะอนาคตให้ลูก เช่น คำนวณ แล้วว่า ควรจะซื้อประกันที่มีระยะเวลา 18 ปี สำหรับใช้เงินเมื่อลูก เริ่มต้นเรียนปริญญาตรี แทนที่จะเลือกซื้อแบบสะสมทรัพย์ ที่มีเงินจ่ายคืนทุกปี เปลี่ยนเป็นรับเงินเมื่อครบสัญญาของกรมธรรม์ แล้วรับเงินก้อนโตทีเดียว เรียกว่าเป็น ดอกเบี้ยทบต้นทบดอกไปเลย
หรือหากตั้งใจว่าจะทำประกันไว้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายระหว่างทาง แทนที่จะรับเงินก้อนตอนที่ครบสัญญาอย่างเดียว คุณก็สามารถทำได้ด้วยการขอรับเงินคืนระหว่างปีสำหรับเป็นค่าเทอม ก็สามารถทำได้ ตรงนี้ไม่มีปัญหา แต่ต้องปรึกษากับตัวแทน หรือเจ้าหน้าที่บริษัท เพื่อขอคำแนะนำดู เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในการทำประกัน
หากคุณ ยังไม่แน่ใจว่าตลอดระยะเวลาของสัญญาประกันภัย ว่าจะเป็น 10 ปี หรือ 15 ปี หากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต จะทำอย่างไร ตรงนี้ก็มีทางออกเช่นกัน คือ ด้วยการการซื้อประกันออกเป็น 2 ฉบับ คือ ในระดับมัธยม และแบ่งไว้สำหรับ อุดมศึกษา คือ ฉบับแรก ซื้อกรมธรรม์ที่มีอายุ 10 ปี 1 กรมธรรม์ วางแผนไว้ว่าเมื่อครบสัญญาลูก เรียนจบชั้นประถม จะได้มีเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเรียนมัธยม และซื้ออีก 1 กรมธรรม์ ที่มีระยะเวลา 15 ปี เพื่อที่จะได้ใช้เงินเมื่อลูกเรียนปริญญาตรี
ทั้งนี้ในการแบ่งทำประกันเป็นช่วงๆ มีข้อดีคือ ทำให้เป็นภาระทางการเงินเกินไป อายุมากขึ้น ความเชี่ยวชาญมากขึ้น ฉะนั้น รายได้ก็น่าจะมากขึ้น รวมทั้งสัญญาที่ทยอยครบกำหนดทุกช่วง 5 ปี ยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้การเงินอนาคตคุณไม่เป็นภาระเกินไป
นอกจากการจัดสรรเรื่อง แบบและระยะเวลาของกรมธรรม์แล้ว หากเลือกผลประโยชน์ และความคุ้มครองที่จะเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่า หากผลประโยชน์พลอยได้ ที่ไม่ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อันนี้ถือว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุด หรืออาจจะซื้อแบบกันที่มีความแตกต่างกัน เช่น โดยกรมธรรม์ฉบับแรกอาจจะซื้อ แบบที่มีทั้งสัญญาพิเศษเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลเงินคืนระหว่างปี เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากกรมธรรม์นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
ส่วนฉบับที่สอง และสาม อาจจะเลือกซื้อแค่ความคุ้มครองอย่างเดียว เพื่อให้ได้ทุนประกันที่สูงมากขึ้น แต่จ่ายเบี้ยประกันถูกลง กล่าวคือ เมื่อหาแบบประกันตัวหลักได้เรียบร้อย ก็ถึงคิวประกันพ่วงหรือ สัญญาพิเศษเพิ่มเติม อย่างแรกที่จะแนะนำคือ เลือกประกันเพิ่มเติมเท่าที่ “จำเป็น” เท่านั้น อะไรที่อยู่นอกข่ายความจำเป็นให้ตัดออกให้หมด
สิ่งสำคัญคือ ควรจะซื้อ ประกันสุขภาพสำหรับลูก ด้วยถ้าคุณจะเลือกแบบประกันค่ารักษาพยาบาลให้ลูก ต้องซื้อประกันด้วยชื่อของลูก แต่หาก พ่อ แม่ เป็นข้าราชการ หรือเป็นพนักงานบริษัท ที่มีสวัสดิการเผื่อแผ่ค่ารักษาพยาบาลไปถึงลูกก็ยิ่งดีใหญ่ แทนที่จะจ่ายเงินซื้อประกันสุขภาพ 100% คุณก็เลือกเฉพาะส่วนเกินจากสวัสดิการที่ดี แต่ถ้าไม่มีสวัสดิการที่เผื่อแผ่มาถึงลูก ขอแนะนำว่าให้ซื้อเผื่อไว้สำหรับลูก
โดยที่ พ่อ แม่ สำรวจค่าห้องพยาบาลว่าอยู่ในอัตราเท่าไหร่ แต่ไม่ต้องซื้อค่าห้องเต็มที่ เพราะประกันสุขภาพเป็นประกันแบบ ทิ้งเปล่า ปีต่อปี การเลือกซื้อประกันสุขภาพอาจเลือกแค่ 80% ของเงินค่าห้องที่คุณพอจะรับได้ เวลาต่อประกันปีต่อไปจะได้ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่จ่ายไปมากนัก
เพราะแบบนี้ลูกคุณ จะใช้สิทธิได้เฉพาะป่วยหนักจนต้องนอนค้างโรงพยาบาล แต่จะมีประกันอีกแบบที่น่านสนใจ นั่นคือประกันสุขภาพแบบ เหมาจ่าย ซึ่งมีข้อดี คือสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้แต่ก็มีข้อติ คือ เบี้ยประกันสำหรับเด็กแพงมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นประกันมาก ประกันน้อยที่ไม่ควรพลาด คือไม่ว่าคุณจะซื้อประกันแบบไหนให้ลูกก็ตาม พ่อ แม่ ควรจะซื้อในแบบที่ถูกแล้วเป็นผู้ชำระเบี้ยแทน และไม่เป็นภาระสำหรับพ่อแม่ด้วย


บทความจาก นิตยสาร Thailand Insurance

Tuesday, February 5, 2008

เคลมประกันอย่างไรให้เร็ว

มีหลายครั้งที่ได้ยิน ได้ฟังถึงความคับอกคับใจจากคนใกล้ชิดว่า ถึงเวลาเคลมประกันทีไร มันช่างยากเย็นแสนเข็น รอกันเป็นชาติกว่าจะได้เงินประกัน บ้างก็บ่นว่า ทำไมขั้นตอนมันช่างยุ่งยากเสียกระไร ไม่เห็นเหมือนตอนที่จ่ายเบี้ยประกันภัยเลย บางคนถึงกับตีโพยตีพาย เลยไปถึงขั้นเกิดอาการเกลียดประกันเลยก็มี
เรื่องแบบนี้ จะว่าไปก็เป็นปัญหาโลกแตกสำหรับบริษัทประกันเช่นกัน เพราะผู้เอาประกันเปรียบเหมือนพระเจ้า อยากรีบจ่าย แต่บางครั้งก็จำนนด้วยเงื่อนไข ว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอน ฝ่ายลูกค้าเอง บางครั้งก็ใจร้อนไปหน่อย บางคนก็เข้าใจถึงขั้นตอนการทำงาน การพิจารณาตรงนี้ไม่มีปัญหา
เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย อินไซด์ประกันฉบับนี้ เลยต้องหยิบยก วิธีการเคลมอย่างไรให้เร็วมาฝากกัน เผื่ออย่างน้อยจะได้ช่วยให้กระบวนการทำงานของบริษัทประกันในการพิจารณาเคลมให้เร็วได้ทันใจมากขึ้น
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเคลมประกันหรือการเคลมสินไหม นั้น มี 2 แบบคือ เคลมสินไหมทดแทน อันนี้หมายถึงการเคลมประกันในลักษณะที่ผู้เอาประกันมีชีวิต จะเป็นลักษณะการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือเป็นลักษณะของการเจ็บป่วยธรรมดา แล้วต้องการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกัน
ส่วนอีกแบบคือ เป็นการเคลมสินไหมมรณกรรม แบบนี้เป็นกรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดก็ตามต้อง ทำความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ ในการเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณาเคลม เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว
โดยปกติ ผู้เอาประกันสามารถเคลมสินไหมได้ภายในระยะเวลา 5-8 วัน แต่ในบางกรณีที่หลักฐานเอกสารไม่ครบถ้วนหรือเป็นการเรียกร้อง สินไหมที่มีความสลับซับซ้อน บริษัทฯ ก็จำเป็นต้องขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม หรือต้องใช้เวลาในการติดตามและตรวจสอบ ซึ่งโดยทั่วไปขึ้นตอนการเรียกร้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันมีดังนี้
1. กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ผู้รับประโยชน์จะต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันเสียชีวิต เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีใครทราบว่าผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือประกันชีวิตไว้ ซึ่งในกรณีนี้จะต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าผู้เอาประกันเสียชีวิต กรณีประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่เสียชีวิตต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันประสบอุบัติเหตุ
2. ส่งหลักฐานการเรียกร้องสินไหมตามแบบฟอร์มที่บริษัทฯ กำหนดภายใน 90 วัน ของการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่บริษัทฯ มีภาระผูกพันในกรณีทุพพลภพ
3. บริษัทฯ มีสิทธิขอตรวจร่างกายของผู้เอาประกันเสียชีวิต บริษัทฯ จะจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ กรณีผู้รับประโยชน์ เสียชีวิตก่อนหรือพร้อมกับผู้เอาประกัน โดยผู้เอาประกันไม่ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนผู้รับประโยชน์ บริษัทฯ จะจ่ายให้แก่กองมรดกของผู้เอาประกัน แต่ในกรณีมีผู้รับประโยชน์หลายคน แบะผู้รับประโยชน์บางคนเสียชีวิตก่อนหรือพร้อมกับผู้เอาประกัน บริษัทฯ จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่เหลือ อยู่คนละเท่าๆ กัน หรือเป็นไปตามส่วนที่ผู้เอาประกันได้แสดงเจตนาไว้ในใบคำขอ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ขั้นตอนต่างๆ ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดเลยเพียงแต่ขอให้ผู้เอาประกันทำความเข้าใจกันให้ถ้องแท้เสียก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของหลักฐาน และการตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่บริษัทประกัน อันจะเป็นผลทำให้การพิจารณาเร็วขึ้นด้วย


บทความจาก นิตยสาร Thailand Insurance

Thursday, January 24, 2008

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี สมัยก่อน เกษตรกรจะทำการผลิตเพื่อการบริโภค โดยอาศัยธรรมชาติตามสภาพแวดล้อมมีการปลูกพืชหลากหลายชนิดคละกัน ทั้งพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร พืชใช้สอย ในลักษณะของสวนผสม พืชเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ทางนิเวศวิทยา ซึ่งกันและกัน มีความต้องการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม กับการเจริญเติมโตแตกต่างกันไป เกี่ยวกับแสงแดด อุณหภูมิความชื้น ดิน เป็นต้น เช่นพืชทรงพุ่มขนาดเล็กต้องการแสงน้อย อยู่ใต้พืชที่ทรงพุ่มใหญ่ การทำลายของโลกแมลงที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นการควบคุมพืชบางชนิดให้มีปริมาณเหมาะสมในระบบนิเวศของพืช พืชที่ขึ้นปะปนหรือคละกันมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการระบาดของโรดแมลงพืชชนิดอื่นได้ ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่อมามีการพัฒนาเป็นเกษตรเพื่อบริโภคและจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศมุ่งเพิ่มรายได้จึงทำการเกษตรเพื่อจำหน่ายทำให้ต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอกมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกอปรกับเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้องหันกลับมาทำการเกษตร เพื่อบริโภคและจำหน่ายในลักษณะทางเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้ง เศรษฐกิจพอเพียง อาจขยายความได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตของคนไทยให้อยู่อย่างพอประมาณตน เดินทางสายกลาง มีความพอดีและพอเพียง กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญต้องรู้จักการพึ่งพาตนเองโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และรู้จักการนำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น รู้จักการนำปัจจัยพื้นฐานมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขความสบาย และพอเพียงกับตนเอง