โฆษณา

Tuesday, August 10, 2010

ประวัติการผลิตทองคำ

ประวัติการผลิตทองคำ
ในช่วง 6000 ปีที่ผ่านมา คาดว่ามีการขุดทองคำขึ้นมาใช้แล้วมากกว่า 125,000 ตัน โดยประวัติการขุดค้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุด คือ ยุคก่อนการตื่นทอง และยุคหลังการตื่นทอง คาดว่ากว่า 90% ของทองคำที่เคยถูกขึ้นนั้นถูกขุดขึ้นมาหลังปี ค.ศ. 1848 หรือตั้งแต่ยุคตื่นทองในแคลิฟอร์เนีย

ยุคแรก (ก่อนปี ค.ศ. 1848)
ในช่วง 2000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์ขุดทองคำได้ไม่ถึงปีละ 1 ตัน จากบริเวณที่เป็นประเทศอียิปต์ ซูดาน และซาอุดิอาราเบียในปัจจุบัน
ในยุคอาณาจักรโรมันรุ่งเรือง คาดว่ามีการขุดทองคำได้ 5-10 ตันจาก สเปน ปอร์ตุเกส และแอฟริกา
ช่วงกลางศตวรรษที่ 15 มีการผลิตทองคำ 5-8 ตันต่อปีจากแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่ง คือบริเวณประเทศกานาในปัจจุบัน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 มีการผลิตทองคำรวม 10-12 ตัน จากแอฟริกาตะวันตกและ อเมริกาใต้
ในปี ค.ศ. 1847 หนึ่งปีก่อนเกิดการตื่นทองในแคลิฟอร์เนีย รัสเซียผลิตทองคำได้ 30-35 ตัน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผลิตได้ทั้งโลกที่มีประมาณ 75 ตัน

ยุคที่สอง (หลังปี ค.ศ. 1848)
หลังปี ค.ศ. 1848 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญหลังการค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนียและในออสเตรเลีย โดยในแต่ละแห่งสามารถขุดได้ทองคำในแต่ลปีเกือบ 100 ตัน
หลังจากได้ได้มีการค้นพบแหล่งทองคำในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผลผลิตสูงที่สุดมาต่อเนื่องยาวนานนับจากช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน
ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการขุดทองคำได้เฉลี่ยปีละ 400 ตัน
ในช่วงปี 1990 โลกมีการขุดค้นได้ทองคำเฉลี่ย 1744 ตันต่อปี ทั้งนี้เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยทำให้การผลิตเดิมที่ไม่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้ขึ้น แต่ราคาทองคำที่ตกต่ำลงทำให้ผลผลิตทองคำไม่เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด

บทความจาก www.goldtraders.or.th

แหล่งแร่ทองคำ

แหล่งแร่ทองคำ
โดยทั่วไปแล้วมักพบแร่ทองคำจะอยู่ในหินอัคนีชนิดเบสมากกว่าชนิดกรด แต่ส่วนใหญ่จะพบว่าทองอยู่ในหินชั้นและในกระบวนการของหินชั้น พบว่าหินทรายจะมีปริมาณทองมากกว่าหินชนิดอื่น ๆ
ส่วนในแหล่งแร่จะพบว่า แร่ทองจะอยู่กับแร่เงิน ทองแดง และโดบอลต์ ปริมาณที่พบทองในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ทอง 1 กรัมต่อหินหรือดิน 300 เมตริกตัน ส่วนในน้ำทะเลจะมีปริมาณทอง 1 กรัมต่อน้ำทะเล 20,000-90,000 ตัน ซึ่งการสกัดเอาแร่ทองคำออกมาแล้ว ไม่คุ้มต่อการลงทุน กล่าวคือจะมีต้นทุนสูงมาก
การเกิดของแร่ทองคำ
การเกิดของแร่ทองคำนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบตามลักษณ์ที่พบในธรรมชาติ ดังนี้
1.แบบปฐมภูมิ คือแหล่งแร่ที่เกิดจากกระบวนการทองธรณีวิทยา มีการผสมทางธรรมชาติจากน้ำแร่ร้อน ผสมผสานกับสารละลายพวกซิลิก้า ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินต่าง ๆ เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร มีการพบการฝังตัวของแร่ทองคำในหิน หรือสายแร่ที่แทรกอยู่ในหิน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีส่วนน้อยที่จะมีขนาดโตพอที่จะเห็นได้ชัดเจน แหล่งแร่คำแบบนี้จะมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ ก็ต่อเมื่อมีทองคำมากกว่า 3 กรัมในเนื้อหินหนัก 1 ตัน หรือมีทองคำหนัก 1 บาท(15.2 กรัม) ในเนื้อหินหนักประมาณ 5 ตัน (ประมาณ 2 ลูกบาศก์เมตร)

2.แบบปฐมทุติยภูมิ หรือแหล่งลานแร่ คือการที่หินที่มีแร่ทองคำแบบปฐมภูมิได้มีการสึกกร่อนผุพัง แล้วสะสมตัวในที่เดิมหรือถูกน้ำชะล้างพาไปสะสมตัวในที่ใหม่ ในบริเวณต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น เชิงเขา ลำห้วย หรือ ในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำ

แหล่งแร่ทองคำที่พบในต่างประเทศ
เมื่อ พ.ศ. 2396 สหรัฐอเมริกาได้มีการค้นพบทองครั้งใหญ่ ผลิตทองได้มากมายจนทำให้เป็นผู้นำการผลิตทอง ถึง 50 ปี ส่วนในออสเตรเลียก็เช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา คือมีการค้นพบทองมากมาย จึงทำให้ตลาดของสหรัฐอเมริกาดูตกต่ำลง แต่ช่วงเวลาไม่นานจำนวนทองที่ออสเตรเลียก็ลดลงอย่างรวดเร็วในขณะที่การค้นพบทองครั้งใหญ่ ก็เกิดขึ้นอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกาทำให้สหรัฐอเมริกาในตลาดโลกมีความกระเตื้องขึ้นหลังจากที่ตกต่ำไป หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2439 มีการตื่นทองครั้งใหญ่ที่แคนาดาซึ่งผลิตทองได้เกินกว่า 15 ล้านเอานซ์ต่อปี และในปี พ.ศ. 2458 สุงสุดเกือบ 23 ล้านเอานซ์ต่อปี นับตั้งปี พ.ศ. 2448 ประเทศแอฟริกา เป็นอันดับหนึ่งในการผลิตทอง รองลงมาคือประเทศ สหรัฐอเมริกา ประมาณ 26 ปี ต่อมา ผลผลิตทองของสหรัฐอเมริกาจึงตกเป็นรองประเทศรัสเซียและแคนาดา
ได้มีการประเมินปริมาณของการขุดทองทั่วโลก นับจากเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ ได้ทั้งหมด 3 พันล้านเอานซ์ เป็นข้อมูลที่ประเมินไว้ก่อนปี พ.ศ. 2515

แหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย
เมื่อประมาณ 60-70 ปีมาแล้ว แหล่งแร่ทองคำที่สำคัญที่สุด คือแหล่งแร่ที่ป่าร้อนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ทำการหาทองโดยวิธีการร่อน เป็นเวลาหลายปีจนปริมาณลดลง แต่ก็ยังมีเหลือพบบ้าง
กรมทรัพยากรธรณี สำรวจพบแร่ทองคำกระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด ยกเว้นพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่สูงมีอยู่ 2 แนวคือ แนวแรก พาดผ่านจังหวัดเลย หนองคาย เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และจังหวัดระยอง ส่วนแนวที่ 2 พาดผ่านจังหวัดเชียงราย แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และจังหวัดตาก ส่วนพื้นที่อื่นๆ พบทองคำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น บริเวณบ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
บริเวณที่สำรวจพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่ทองคำสูง ในปัจจุบันมีด้วยกัน 9 บริเวณ ดังนี้
1.บริเวณพื้นที่ในเขตตอนเหนือของจังหวัดอุดรธานี อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอเมือง อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม จังหวัดเลย
2.บริเวณพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอสระแก้ว และอำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี
3.บริเวณพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอวังชิ้น อำเภอลอง จังหวัดแพร่
4.บริเวณพื้นที่อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอเมือง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอม่จัน อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
5.บริเวณพื้นที่อำเภอสนามชัยเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงไปถึงอำเภอบ้าบึง กิ่งอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี จรดชายฝั่งทะเลที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
6.บริเวณพื้นที่อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน กิ่งอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอประทิว และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
7.บริเวณกิ่งอำเภอสุคิริน อำเภอระแงะ และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และบริเวณทางตอนใต้ของจังหวัดยะลา
8.บริเวณพื้นที่อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค ถึงอำเภอสวนผึ้งและอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
9.บริเวณพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอโคกสำโรง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์

บทความจาก www.goldtraders.or.th

ประวัติทองคำในประเทศไทย

ประวัติทองคำในประเทศไทย
ประเทศไทย เคยเป็นที่รู้จักและเรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า “สุวรรณภูมิ” แปลว่าแผ่นดินทอง การที่ประเทศไทยได้ชื่อนี้อาจเนื่องมาจากความเป็นจริงของธรรมชาติตามหลักฐานที่กรมทรัพยากรธรณีมีอยู่ ซึ่งล้วนแต่มีการร่อนหาทองคำกันมาแต่โบราณ ประเทศไทยครั้งนั้นคงมีทองคำอุดมสมบูรณ์มาก นักเผชิญโชคชาวภาระตะผู้นำอารยะธรรมของชมพูทวีปมาสู่กัมพูชา ในโบราณกาลจึงพากันเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” แผ่นดินที่เรียกว่าสุวรรณภูมินี้มีอาณาเขตครอบคลุมพม่า ไทย ตลอดจนแหลม มาลายู สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงประทานอรรถาธิบายไว้ในคำอธิบายหนังสือพระราชพงศาวดาร เล่มที่หนึ่ง(พ.ศ.2457) ว่าทรงเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “สุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ตั้งแต่เมืองมอญ ตลอดลงมาถึงแหลมมาลายู หรือบางทีอาจตลอดไปจนถึงเมืองญวน โดยในครั้งกระโน้น ดินแดงนี้อาจเรียกว่าสุวรรณภูมิทั้งหมด”
ความผูกพันกันระหว่างโลหะทองคำกับคนไทยนั้น มีมายาวนาน อาจย้อนไปถึงสมัยอาณาจักรเชียงแสนเพราะมีหลักฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำซึ่งมีศิลปะแบบเชียงแสน ปรากฎอยู่ จากนั้น เมื่อไทยได้รับระบบสมมติเทวราชของขอมมาให้เป็นสถาบันบริหารสูงสุดของประเทศ ทองคำถูกนำมาใช้ในการทำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคทั้งหลาย
ความมั่งคั่งในทองคำของไทยในอดีตอาจพิจารณาได้จากการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับชาวต่างชาติ เช่น พระราชสาสน์นั้นเป็นการเขียน (จาร) ลงบนแผ่นทองคำที่เรียกว่าพระสุพรรณบัฏ และเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ที่ทำด้วยทองคำเป็นต้น นอกจากนี้เครื่องใช้และเครื่องประดับต่าง ๆ ก็ยังนิยมใช้ทองคำด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงการมีทองคำอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อกันว่าที่มาของทองคำเหล่านี้ คือแหล่งทองที่เป็นเกล็ดปนอยู่ในทรายซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามลำธารของภาคเหนือและภาคอีสานตอนเหนือ
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งทองคำไปเป็นเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสถึง 46 หีบ และพระองค์ได้ให้เอกอัครราชทูตไทยที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนั้นว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการทำเหมืองแร่ทองคำจากฝรั่งเศสมาด้วย แร่ทองคำที่มีการผลิตหรือร่อนแร่กันในสมัยนั้น คือ แร่ทองคำบ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการค้นพบและทำเหมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2283 และมีหลักฐานว่าในปี พ.ศ.2293 สามารถผลิตทองคำ ได้ทองคำหนัก 90 ชั่งเศษ หรือน้ำหนักประมาณ 109.5 กิโลกรัม
ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีเครื่องทองคำที่ควรกล่าวถึง เป็นเครื่องประดับสำหรับเกียรติยศซึ่งปรากฏในหลักฐานเอกสารต้นตำนานตรานพรัตน์ฯ เมื่อพระมหากษัตริย์บรมราชาภิเษกเสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐพราหมณ์ย่อมถวายพระสังวาลย์นพรัตน์นั้นสวมทรงก่อน
จวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา ในรัชกาลที่ 4 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การขุดทองลดน้อยลงจนต้องหาซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ การใช้ทองคำมีปรากฏในพระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับการทำเงินตราสยามเป็นเหรียญเงิน และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำเหรียญทองคำ ด้วยเช่นกัน
กระทั่งปี พ.ศ.2414 มีการค้นพบทองคำที่บ้านบ่อ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีและได้มีการทำเหมืองด้วยวิธีการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินในปี พ.ศ.2416 โดยพระปรีชากลการเจ้าเมืองปราจีนบุรี แต่ปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2421 ต่อมาได้เปิดดำเนินการอีกครั้ง ในช่วงปี พ.ศ.2449 – 2459 แต่ไม่มีข้อมูลของการผลิตแต่อย่างใด
จากนั้นจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศได้เข้าติดต่อค้าขายและมีการเสาะหาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีชาวอิตาเลียน ได้ขอทำการขุดทองที่บางตะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อกลับไปก็ไปเผยแพร่ว่าประเทศไทยนั้นอุดมด้วยแร่ทองคำเนื้อดีจึงทำให้ชาวต่างชาติหลายชาติได้เข้ามาขออนุญาตขุดหาแร่ทองคำมากขึ้น
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแก่บริษัทจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสหลายแห่ง เช่น แหล่งโต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส แหล่งบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น แต่บริษัทต่างๆ เหล่านี้ ได้หยุดดำเนินการเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้มีบันทึกไว้ว่า บริษัท Societe des Mine d’Or de Litcho ของฝรั่งเศส ได้ทำเหมืองแร่ทองคำที่แหล่งโต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส ในระหว่างปี พ.ศ.2479 – 2483 ได้ทองคำหนักถึง 1,851.44 กิโลกรัม ระหว่างปี พ.ศ.2493 – 2500 กรมโลหกิจ(กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) ได้ทำเหมืองทองคำที่บ้านบ่อ จังหวัดปราจีนบุรี สามารถผลิตทองคำได้ถึง 54.67 กิโลกรัม

บทความจาก www.goldtraders.or.th

ประวัติของทองคำโลก

ประวัติของทองคำโลก
ทองคำเป็นที่รู้จักกันในสังคมมนุษย์มาเป็นเวลาเกือบหกพันปีมาแล้ว คำว่า “Gold” นั้นมาจากคำภาษาอังกฤษ คือ “Geolo” ซึ่งแปลว่าเหลือง ส่วนสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ของธาตุทองคำ “Au” มาจากคำภาษาลาติน คือ “Aurum” แปลว่าทอง ในยุคโบราณทองคำได้นำมาใช้เป็นเครื่องตกแต่งในพิธีกรรมทางศาสนา หรือเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความมีอำนาจ ความรุ่งเรือง การค้นพบหาทองครั้งแรกสุดดูเหมือนจะพบทางแถบเอเชียตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศอียิปต์ซึ่งเป็นประเทศที่มีสิ่งของเครื่องทองให้ปรากฏเห็นตั้งแต่ประมาณ 4,000 ปีก่อนศริสตศักราช ต่อมาได้มีการค้นพบอีกที่ประเทศมาเซโดเนีย อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย การขุดทองเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่มีการค้นพบทวีปอเมริกา นับเป็นเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา ทองคำยังคงสามารถใช้เป็นเงินตราที่มีค่าสูงสุด และเป็นโลหะชนิดเดียวที่ได้รับการยอมรับในทุกหนทุกแห่ง การใช้ทองคำเป็นเงินตรานั้นมีบ้าง ในดินแดนที่มีความเจริญที่สุดในสมัยโบราณกาล ทองคำได้ครองความเป็นเจ้าเมื่อเปรียบเทียบกับเงินตรา( คือโลหะ ) มาจนถึงคริสตศตวรรษที่ 19 ได้มีการเอามาตรฐานทองคำเข้ามาใช้ในระบบเงินตราในหลายประเทศนายทุนใหญ่ ๆ โดยรัฐบาลเป็นผู้หลอมทำและจำหน่ายเงินเหรียญทองคำ ทองคำจึงกลายมาเป็นพื้นฐานหลักของระบบเงินตราไป ได้มีการกำหนดมาตรฐานทองคำใช้กันเป็นครั้งแรกที่สุดในประเทศอังกฤษ แล้วค่อย ๆ แผ่ขยายออกไปประเทศอื่น ๆ เมื่อทองคำและเงินหลั่งไหลเข้ามาในยุโรปตะวันตกภายหลังจากที่ได้มีการค้นพบทางภูมิศาสตร์ครั้งใหญ่ ( หมายถึงการล่าอาณานิคม )ในศตวรรษที่ 15 และ 16 จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ตัณหาของมนุษย์ในการที่มุ่งครอบครองทองคำได้ผลักดันให้มนุษย์แสวงหาอาณานิคม ทำสงคราง และสร้างอารยธรรม
ในตอนกลางศตวรรษที่ 19 ได้มีการค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนียและในออสเตรเลีย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วในยุโรปตะวันตกและในอเมริกาเหนือ ทองคำช่วยดึงเอาประเทศต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันก่อตัวเป็นตลาดโลกขึ้น ต่อมาในตอนปลายศตวรรษที่ 19 ได้มีการค้นพบทองคำในอาฟริกาใต้และนี่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์

บทความจาก www.goldtraders.or.th

ทองคำปิดร่วง $2.70

ทองคำปิดร่วง $2.70 หลังจากสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (9 ส.ค.) เพราะถูกกดดันจากสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ก่อนที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีขึ้นในคืนวันอังคารที่ 10 ส.ค.ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ในวงกว้างว่าเฟดจะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค.ร่วงลง 2.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,202.60 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 1,201.10 - 1,212.10 ดอลลาร์ ขณะที่สัญญาโลหะเงินเดือนก.ย.ลดลง 23.00 เซนต์ ปิดที่ 18.242 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 1.1 เซนต์ ปิดที่ 3.3540 ดอลลาร์/ปอนด์ ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค.ดิ่งลง 27.90 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,542.90 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย.ลดลง 7.95 ดอลลาร์ ปิดที่ 479.65 ดอลลาร์/ออนซ์ นักลงทุนเทขายสัญญาทองคำหลังจากสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ รวมถึงการใช้นโยบายผ่อนปรนด้านการเงินเพิ่มเติม หลังจากเศรษฐกิจส่งสัญญาณการชะลอตัวในหลายภาคส่วน รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดแรงงาน นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 1% รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 1.75% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืนที่ 0.25% กองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองรายใหญ่ที่สุดในโลก เข้าถือครองทองคำที่ 1,282.746 ตันในช่วงเวลาที่สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ส.ค. ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับของวันที่ 5 ส.ค.

ที่มา : อินโฟเควสท์
วันที่ : 10 สิงหาคม 2553

Monday, August 9, 2010

สัญญาณแห่งคุณค่า

สัญญาณแห่งคุณค่า
โลกในมุมมองของ Value Investor June 7, 2010
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในการค้นหาว่าหุ้นตัวไหนจะมี Value หรือมีคุณค่า หรือมีคุณค่ามากขึ้นนั้น นอกจากกำไรที่ควรจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ต่อไปนี้คือสัญญาณบางอย่างที่จะช่วยบอกเราว่าหุ้นตัวนั้นจะเป็นหุ้น Value ที่น่าสนใจในอนาคตและเป็นหุ้นที่เราควรพิจารณาลงทุน
สัญญาณแรกก็คือ Market Share หรือส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าของบริษัทเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี้เป็นสัญญาณที่ดีมาก เนื่องจากมันบอกว่าความสามารถในการแข่งขันของบริษัทกำลังเพิ่มขึ้น และการได้หรือมีธุรกิจมากขึ้นมักจะก่อให้เกิดความได้เปรียบในแง่ของต้นทุนการผลิตและการขายของสินค้าต่อหน่วยซึ่งจะลดลง และนั่นก็จะทำให้ได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้นไปอีก ก่อให้เกิด “วงจรแห่งความรุ่งเรือง” ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ
สัญญาณข้อที่สองก็คือ บริษัทสามารถควบคุมราคาขายของสินค้าของบริษัทได้ดี นั่นก็คือ บริษัทสามารถกำหนดหรือควบคุมราคาขายสินค้าของบริษัทได้ในระดับที่มีเหตุผล คือมีกำไรที่เพียงพอ นี่เป็น Value หรือคุณค่าของกิจการ ถ้าเราพบว่ากิจการไม่สามารถควบคุมราคาขายได้เช่นกิจการที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์ หรือกิจการที่มีการแข่งขันกันรุนแรงมาก แบบนี้เป็นสัญญาณว่ากิจการมีคุณค่าน้อย
สัญญาณที่สามคือ ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าหรือยี่ห้อของบริษัท ถ้าพบว่าลูกค้ามีความภักดีมาก ไม่เปลี่ยนไปใช้สินค้าหรือบริการของคู่แข่งง่าย ๆ แบบนี้ก็ถือว่าเป็น Value ที่มีคุณค่า ตรงกันข้าม ถ้าลูกค้ามักจะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าหรือบริการจากคู่แข่งอยู่เรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลสารพัดเช่นเวลาที่มีโปรโมชั่นพิเศษ หรือมีสินค้าหรือบริการใหม่ที่แตกต่างจากเดิมเพียงเล็กน้อย แบบนี้ต้องถือว่าบริษัทไม่ค่อยมี Value เท่าไรนัก
สัญญาณที่สี่ก็คือ Profit Margin หรือเปอร์เซ็นต์กำไรเมื่อเทียบกับยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี่เป็นสัญญาณที่ต้องมองย้อนหลังไปหลาย ๆ ไตรมาศหรืออาจจะหลายปี ถ้าพบว่า Margin ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเช่น จากเดิมกำไรต่อยอดขายเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ ปีต่อมาเป็น 3.2 ปีที่สามเป็น 3.4 ปีที่สี่เป็น 3.5 ปีที่ห้าเป็น 3.6 แบบนี้แปลว่าบริษัทสามารถทำกำไรต่อยอดขายเพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะมาจากสาเหตุหลายอย่างเช่น บริษัทสามารถขายสินค้าในราคาแพงขึ้นหรือสามารถลดต้นทุนลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งถือว่าเป็น Value หรือคุณค่าที่ดีมาก
สัญญาณข้อห้า Return On Equity (ROE) หรือ ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นค่อนข้างสูงและสม่ำเสมอหรือเพิ่มขึ้น ตัวเลขที่จะแสดงถึง Value หรือคุณค่านั้นผมคิดว่าน่าจะต้องไม่ต่ำกว่า 14-15% ต่อปี ยิ่งสูงก็ถือว่ามี Value มากขึ้นเท่านั้น แต่นี่ก็ต้องหมายถึงว่าบริษัทไม่ได้กู้หนี้มากเกินกว่าที่ควรเป็นซึ่งก็คือควรจะมีหนี้ไม่เกิน 4-5 เท่าของกำไรต่อปี ยกเว้นกิจการที่มีรายได้และกำไรค่อนข้างแน่นอนเช่นพวกกิจการสาธารณูปโภคที่อาจจะยอมให้มีหนี้มากกว่านั้นได้ เรื่องของ ROE นั้น ผมคิดว่าแทบจะบอกได้เลยว่าถ้ากิจการไหนมี ROE ต่ำมากเช่นต่ำกว่า 10% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน แบบนี้ต้องบอกว่าหุ้นไม่ค่อยมี Value เท่าไร
สัญญาณข้อที่หก เป็นกิจการที่สร้างกระแสเงินสดดี ไม่ใช่กิจการที่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือเป็นกิจการที่ต้องใช้เงินเพื่อบำรุงรักษาเครื่องจักร อุปกรณ์ค่อนข้างมากและตลอดเวลา ยิ่งกิจการที่ขยายตัวได้โดยแทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มก็ต้องถือว่าเป็นกิจการที่มีคุณค่าสูง เพราะกิจการแบบนี้เมื่อมีกำไรก็มักจะสามารถจ่ายปันผลได้ในอัตราที่สูง นอกจากนั้น กิจการเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปก็มักจะกลายเป็นกิจการที่ “ปลอดหนี้” เงินกู้จากสถาบันการเงินซึ่งทำให้ความเสี่ยงของบริษัทลดลงมาก
สัญญาณสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ เรื่องของผู้บริหาร คุณค่าของกิจการนั้นขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารค่อนข้างมาก ผู้บริหารที่มีความโปร่งใส เปิดเผยหรือเปิดตัวต่อสาธารณชนไม่แอบอยู่ใน “มุมมืด” ผู้บริหารที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ผู้บริหารที่ทำอะไรมีเหตุมีผล ผู้บริหารที่ตัดสินใจอะไรก็คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และที่สำคัญ ผู้บริหารที่จัดสรรผลกำไรอย่างเหมาะสม นั่นคือ จ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอย่างยุติธรรม เหล่านี้เป็นคุณค่าของบริษัท ตรงกันข้าม ผู้บริหารที่เก็บตัวไม่ยอมให้ข่าวสารกับผู้ถือหุ้น เวลาจัดสรรผลกำไรของกิจการนั้นมองดูไม่สมเหตุสมผล หรือเป็นคนที่เข้าใจได้ยากเวลาตัดสินใจทำอะไรเกี่ยวกับบริษัท แบบนี้เป็นสัญญลักษณ์ของความไม่มีคุณค่า
การมองหา “คุณค่า” นั้น ยังมีสัญญาณอื่น ๆ อีกมาก ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงบางส่วนที่สำคัญและเป็นเรื่องทั่วไปที่ใช้ได้กับทุกกิจการหรือทุกอุตสาหกรรม นักลงทุนที่มุ่งมั่นและศึกษาบริษัทที่จะลงทุนจะต้องคิดอย่างละเอียดขึ้นว่าหุ้นที่ตนเองสนใจนั้น มีคุณค่าหรือ ด้อยคุณค่าอย่างอื่นที่สำคัญหรือไม่เพื่อที่จะได้วิเคราะห์อย่างถูกต้องว่าหุ้นของตนเองนั้น มี Value หรือกำลังมี Value เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
สรุปก็คือ ในการวิเคราะห์ในแบบของ Value Investment นั้น เราจะต้องมองหาคุณค่าของบริษัท ยิ่งบริษัทมีคุณค่าสูงหรือกำลังมีคุณค่าสูงขึ้น นั่นก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะคุณค่านั้นในไม่ช้าก็จะแปลงออกมาเป็นราคาหุ้นที่สูงขึ้น ตรงกันข้าม ถ้าเราพบว่า Value ของกิจการกำลังลดลง แม้ว่าตัวเลขผลประกอบการจะยังดูดีอยู่ แต่ในที่สุด ผลประกอบการก็จะตกต่ำลงตามคุณค่าที่ลดลง และราคาหุ้นก็จะลดลงตามมา

http://www.thaivi.com/2010/06/521/

สัญญาณแห่งความรุ่งเรือง

สัญญาณแห่งความรุ่งเรือง
โลกในมุมมองของ Value Investor August 8, 2010
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาแต่ละไตรมาศนั้น มีประโยชน์น้อยในการพิจารณาการลงทุน เหตุผลก็เพราะมันเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว นักลงทุนต้องการรู้ว่าอนาคต หรือการประกาศตัวเลขในไตรมาศที่จะถึงเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรมากกว่า การที่จะรู้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรนั้น บ่อยครั้งผมจะดูจาก “สัญญาณ” ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ผมเห็นและสัมผัสในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นในช่วงนี้ผมรู้สึกว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยคงจะรุ่งเรืองพอสมควรทีเดียว เพราะผมได้เห็นและรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเรื่องต่าง ๆ ต่อไปนี้
สัญญาณแรกซึ่งผมเริ่มรู้สึกเล็กน้อยมาได้หลายเดือนแล้วก็คือ ร้านสะดวกซื้อมีคนเดินหยิบสินค้าและเข้าคิวจ่ายเงินมากขึ้น ร้านสะดวกซื้อนั้น จริง ๆ แล้วเป็นสัญญาณที่ไม่แรงหรือเป็นสัญญาณอ่อน เพราะจำนวนคนในแต่ละช่วงเวลานั้นมีไม่มาก การรอจ่ายเงินก็ไม่นาน อย่างไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่ผมเห็นทุกวัน บางวันเห็นมากกว่าหนึ่งครั้ง และส่วนใหญ่เห็นหลายร้าน เนื่องจากในซอยบ้านผมมีร้านสะดวกซื้อหลายร้านที่ผมต้องเดินผ่านเกือบทุกวัน การมีคนเข้าร้านสะดวกซื้อมากขึ้นเป็นสัญญาณว่าคนชั้นกลาง-ล่าง มีเงินมากขึ้นในการซื้อสินค้า เครื่องดื่มและอาหารบริโภคในชีวิตประจำวัน ดังนั้น นี่เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าน่าจะดีขึ้น
สัญญาณที่สองที่ผมเห็นก็คือ ห้างสรรพสินค้าขนาดเล็กที่ให้บริการคนใน “ท้องถิ่น” และคนชั้นกลางที่เป็นพนักงานออฟฟิสที่มาต่อรถแถว ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยปกติผมจะเป็น “ลูกค้าประจำ” เพราะต้องเดินจากบ้านไปรับประทานอาหารเย็นสัปดาห์ละหลาย ๆ วัน หรือแม้แต่ช่วงกลางวัน บ่อยครั้งผมต้องแวะไปรับประทานอาหารและซื้อสินค้าจิปาถะ พูดง่าย ๆ นี่แทบจะเป็น “ห้องครัว” ของผม ก่อนหน้านี้ ผมสามารถเลือกร้านอาหารและไม่ต้องรอนานกว่าจะได้รับประทาน เพราะคนมีไม่มาก แต่ในช่วง2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมเริ่มรู้สึกว่า ร้านอาหารที่มีอยู่หลายร้านต่างก็เริ่มมีคิว เมื่อสั่งอาหารแล้วก็ต้องรอนานขึ้นกว่าที่อาหารจะมาเสิร์พ นอกจากนั้น ในช่วงเกือบบ่ายสองโมงซึ่งในอดีตมักจะเป็นช่วงที่ร้านมักจะว่างก็กลายเป็นว่าคนก็ยังเต็มร้านอยู่ นี่เป็นสัญญาณว่าคนชั้นกลางมีเงินมากขึ้น และอาหารเป็นสิ่งแรกที่พวกเขาจะใช้เงินเพิ่ม
สัญญาณที่สามที่ผมเห็นก็คือ ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และหรูหรากลางเมือง นี่คือสถานที่ที่ผมจะต้องเข้าไปซื้อหาสินค้าและอาหารเพื่อที่จะรับประทานตลอดสัปดาห์ ดังนั้น ผมต้องเข้าไปจับจ่ายสินค้าและหา “ความบันเทิง” สัปดาห์ละครั้ง และแน่นอน ผมต้องสังเกตว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งแรกที่ผมเริ่มรู้สึกก็คือเรื่องที่จอดรถ ก่อนหน้านี้การหาที่จอดรถก็ไม่ง่ายอยู่แล้ว แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานั้น การหาที่จอดรถก็ยากขึ้นเรื่อย ๆ บางวันต้องถูกปัดให้ไปจอดรถในจุดที่อยู่ใกล้เคียงเนื่องจากที่จอดรถเต็มเกินไป สร้างความยุ่งยากให้กับผมที่ต้องขนอาหารจำนวนมากในแต่ละครั้ง และนี่เป็นสัญญาณว่า “คนรวย” กำลังใช้จ่ายมากขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะห้างสรรพสินค้าหรูเท่านั้นที่ผมรู้สึกว่าคนมีรายได้สูงจะเข้าใช้บริการมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนระดับสูงที่ผมใช้บริการอยู่เป็นประจำ และผมต้องไปตรวจสุขภาพทุก 2-3 เดือน ก็มีคนเข้าใช้บริการหนาตาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เดี๋ยวนี้ การใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนนั้นคงไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของความเจ็บป่วยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่เป็น “ทางเลือก” มากขึ้น นั่นก็คือ ถ้ามีรายได้ดีขึ้น คนก็จะเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ในขณะที่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีพวกเขาอาจจะไปโรงพยาบาลน้อยลง ดังนั้น นี่ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่ผมเห็นในช่วงเร็ว ๆ นี้
สัญญานที่ผมเริ่มเห็นล่าสุด และผมคิดว่ามันเป็นสัญญาณที่แรงมาก มันเป็นสัญญาณที่ผมเคยเห็นเมื่อสมัยก่อนปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตสูงมากก็คือ “รถป้ายแดง” ที่วิ่งอยู่ในท้องถนน ในยุคนั้น รถป้ายแดงที่วิ่งอยู่บนท้องถนนนั้นมีจำนวนมากจนเป็นที่สังเกตได้ชัดเจน หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ยอดขายรถใหม่ก็ลดลงจนเราไม่รู้สึกว่ามีรถป้ายแดงเป็นเรื่องเป็นราวเป็นเวลานับสิบปี จวบจนกระทั่งถึงในช่วงนี้ที่ผมรู้สึกว่ามีรถป้ายแดงมากขึ้นจนรู้สึกได้ รถป้ายแดงเป็นสัญญาณที่บอกว่าคนมีรายได้สูงและคนชั้นกลางระดับสูงมีความมั่นใจและมีเงินหรือมีปัญญาที่จะซื้อรถมาใช้ได้มากขึ้น นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจกำลังร้อนแรง และก็คงเติบโตสูงมากอย่างที่มีการคาดกันว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะโตถึงเกือบ 10% ได้
สัญญานสุดท้ายที่ผมไม่ได้สัมผัสด้วยตนเองแต่ก็เริ่มมานานพอสมควรก็คือ การซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม นี่เป็นสัญญาณที่แรงมากในช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 ที่มีการซื้อขายเก็งกำไรและราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงหลังนี้ อาจจะเป็นเพราะความต้องการบ้านจริง ๆ ของคนไทยอาจจะไม่สูงมากเนื่องจากการเกิดที่น้อยลงและสต็อกบ้านเก่ามีมาก ดังนั้น สัญญาณทางด้านการซื้ออสังหาริมทรัพย์จึงไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านและคอนโดก็อยู่ในระดับที่ดีมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเป็นการแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแรงดี คนระดับกลางและสูงมีเงินและพร้อมที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและลงทุนจำนวนมาก
สัญญาณทั้งหลายที่กล่าวมาดูเหมือนว่าจะสอดคล้องและยืนยันอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ค่อนข้างจะดีมาก และน่าจะดีต่อไปอย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง หน้าที่ของเราก็คือ หาหุ้นที่จะได้ผลดีจากภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แน่นอน กิจการจำนวนมากหรือส่วนใหญ่น่าจะได้รับประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะต้องมีผลประกอบการดีขึ้น ส่วนตัวผมเองนั้นคิดว่า การที่เศรษฐกิจดีไม่ใช่เงื่อนไขของการเข้าลงทุน มันเป็นเพียง “โบนัส” ที่ผมจะได้จากการลงทุนในหุ้นของกิจการที่อยู่และเติบโตได้แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี เพราะผมคิดว่า เศรษฐกิจปีนี้อาจจะดี แต่ปีหน้าทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนได้ สำหรับนักลงทุนระยะยาวแบบที่ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดชีวิต ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการลงทุนในบริษัทที่ “อยู่ได้ในทุกฤดูกาล”

http://www.thaivi.com/2010/08/541/

Saturday, August 7, 2010

การตัดสินใจครั้งสำคัญ

การตัดสินใจครั้งสำคัญ
โลกในมุมมองของ Value Investor August 16, 2009
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

คนเราที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่การตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญมากไม่กี่เรื่อง และการตัดสินใจที่ถูกต้องในเรื่องนั้นนำไปสู่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งหลายที่ตามมา เช่น รวยได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ มีชื่อเสียงมากกว่าเพื่อนฝูงในแวดวงเดียวกัน หรือ มีความสุขมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าจะเรียกให้เป็นศัพท์แสงที่เป็นวิชาการหรือเท่หน่อย ผมอยากจะเรียกว่าเป็น Strategic Decision หรือการตัดสินใจในระดับยุทธศาสตร์ของชีวิต
ว่าที่จริง Strategic Decision นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากในเรื่องใหญ่อื่น ๆ เช่น ในเรื่องของธุรกิจนั้น การตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์บางอย่างหรือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือกระบวนการในการทำงานบางอย่างที่สำคัญอาจจะเปลี่ยนแปลงภาพของบริษัทอย่างสิ้นเชิงและทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในขณะที่การตัดสินใจมากมายอื่น ๆ นั้น ไม่มีผลอะไรอย่างสำคัญกับตัวธุรกิจเลย
ในเรื่องของหุ้นเอง วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยพูดไว้ว่า เวลาจะลงทุนซื้อหุ้นแต่ละตัวนั้น ให้คิดว่าในชีวิตนี้เรามีสิทธิ์ที่จะซื้อได้เพียง 20 ตัว ดังนั้น เราก็จะต้องคิดหนักว่าเราจะซื้อตัวไหน เราจะต้องเลือกหุ้นที่มีความแข็งแกร่งสุดยอด มี “ป้อมค่ายและคูเมืองป้องกันข้าศึก” ที่ทนทานถาวร และกิจการจะต้องโตไปได้เรื่อย ๆ เป็นสิบ ๆ ปี ถ้าคิดได้ดังนี้ การซื้อหุ้นแต่ละตัวของเราก็จะไม่ค่อยพลาด และผลตอบแทนก็จะน่าประทับใจ อย่าตัดสินใจซื้อขายหุ้นมากมายไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งนี้มักจะไม่สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตเรา เราควรตัดสินใจน้อยครั้งและเป็นครั้งสำคัญ ๆ เพราะนี่คือสิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน แน่นอน ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องซื้อหุ้นเพียง 20 ตัวในชีวิต แต่ผมเชื่อว่า อาจจะมีหุ้นเพียง 20 ตัวในชีวิตเท่านั้นที่สร้างความสำเร็จทั้งหมดในการลงทุนของเรา ส่วนหุ้นอื่น ๆ อาจจะเป็นร้อย ๆ ตัวนั้น ไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรกับผลการลงทุนของเราเลย ดังนั้น เราไปซื้อทำไม?
ในความคิดของผม ในชีวิตของคนเรานั้น มีจุดหรือช่วงเวลาสำคัญที่เราจะต้องตัดสินใจแบบ Strategic Decision ไม่กี่เรื่องหรือไม่กี่ครั้ง ถ้าตัดสินใจถูก เราอาจจะ “สบายไปตลอด” หรือ “ประสบความสำเร็จงดงามไปเรื่อย ๆ” หรือ “มีความสุขมาก” ไปอีกนาน ปัญหาที่พบก็คือ คนจำนวนมากไม่รู้หรือไม่เข้าใจว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่เป็น “การตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต” ดังนั้น เขาไม่ได้ให้เวลาหรือให้การพิจารณาหรือวิเคราะห์อย่างเพียงพอ บางทีเขาก็อาจจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผล ผลที่ตามมาก็คือ มันเป็นการตัดสินใจที่แย่และเขาก็ต้องรับกับความเลวร้าย หรือความสำเร็จพื้น ๆ ไปตลอดไม่ว่าจะพยายามทำงานหรือต่อสู้มากแค่ไหน
การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตนั้น ถ้าจะไล่ลำดับตามช่วงอายุของคนก็น่าจะรวมถึง การศึกษา ซึ่งผมคิดว่าการเลือกสาขาที่เรียนนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก แน่นอน ถ้าเป็นเด็กที่มี “พรสวรรค์” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาก็ควรเลือกเรียนในแนวนั้น แต่ถ้าไม่รู้ว่ามีพรสวรรค์ด้านไหน การเลือกเรียนในบางสาขาอาจจะทำให้ชีวิตในอนาคตดีขึ้นมาก ดังนั้น อย่าปล่อยให้ “คะแนนสอบ” เป็นตัวกำหนดสาขาที่เราจะเรียน
การแต่งงานเป็น Strategic Decision ที่สำคัญสุดยอดอีกเรื่องหนึ่ง เพราะความสุขและการประสบความสำเร็จในชีวิตขึ้นอยู่กับคู่ของเรามาก ดังนั้น อย่าปล่อยให้ “พรหมลิขิต” มากำหนดว่าเราจะแต่งงานกับใคร เราควรจะต้อง “แสวงหา” โดยการให้เวลากับการเรียนรู้กับคนที่เราคิดว่ามีโอกาสที่เราจะต้องใช้ชีวิตด้วยกันยาวนาน บางคนบอกว่าอยากปล่อยให้เป็นไป “ตามธรรมชาติ” เขามักใช้เวลาไปกับ “งาน” ที่ ไม่ใช่ Strategic Decision ดังนั้น เขาอาจจะมีผลงานที่ดีในสายตาจ้าวนาย แต่เขาอาจจะได้คู่ที่ไม่เหมาะสมหรืออาจจะไม่มีคู่เลย ผลก็คือ ชีวิตนี้อาจจะทำงานแทบตายแต่ไม่มีความสุขและมีเงินน้อยมาก ในขณะที่อีกคนหนึ่งได้เศรษฐีนิสัยดีเป็นคู่ ซึ่งทำให้ชีวิตมีความสุขและมีเงินเหลือล้นโดยที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมากนัก
งานที่ทำ ว่าที่จริงต้องพูดว่าสายงานที่เลือกทำเป็น Strategic Decision เลือกงานผิด ทำงานในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ไม่โตและมีแนวโน้มค่อย ๆ ตกต่ำลง อนาคตเราไม่ค่อยมีทางที่จะ “รุ่ง” ไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหน มันคงเหมือนการ “ว่ายทวนน้ำ” ที่จะไปได้ช้ามาก ดังนั้น ก่อนสมัครงาน คิดเสียก่อนว่าอนาคตของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ถ้าอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงที่กำลังตกต่ำลงอย่างถาวร อย่าเข้าไปจะดีกว่า อย่าลืมว่า เราไม่ได้เป็น “ฮีโร่” แม้ว่าเราจะสามารถช่วยคนที่กำลังตายให้มีอายุยืดไปได้อีกหน่อยหนึ่ง
สุดท้ายก็คือ การเลือกว่าเราจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องไหนเป็นพิเศษ อะไรคือตัวตนของเราจริง ๆ ในชีวิต พูดง่าย ๆ เราอยากให้คนจดจำว่าเราเป็นใครหรือเป็นคนอย่างไรเมื่อเราตายไปแล้ว นี่เป็นเรื่องที่อาจจะทำได้ยากพอสมควรทีเดียว เพราะประเด็นก็คือ มันเป็นเรื่องที่ใช้เวลามากในการทำหรือในการสร้างผลงาน มันต้องอาศัยการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเราก่อน เสร็จแล้วก็ต้องเลือกว่าเราจะเป็นอะไร หลังจากนั้นเราก็ต้องเริ่มทำและทำไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็นสิบ ๆ ปีก่อนที่เราจะบรรลุถึงสิ่งที่เราตั้งธงไว้ ดังนั้น Strategic Decision เรื่องนี้จึงต้องพยายามทำตั้งแต่อายุน้อยที่สุดที่จะทำได้ ยิ่งเราค้นพบได้เร็วเท่าไรก็มีโอกาสมากขึ้นเท่านั้นที่เราจะประสบความสำเร็จ
ผมคงจบบทความนี้ไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดว่า การลงทุนในหุ้นนั้น เป็น Strategic Decision ที่สำคัญสำหรับคนจำนวนมากที่ต้องการจะมีความมั่งคั่งทางการเงิน ดังนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับหุ้นและตลาดหุ้นนั้น มีความสำคัญมาก อย่าปล่อยให้ความกลัวในเรื่อง “ความเสี่ยง” กำหนดการลงทุนของเรา

http://www.thaivi.com/2009/08/12/

เดินสุ่มในวอลสตรีท

เดินสุ่มในวอลสตรีท
โลกในมุมมองของ Value Investor August 23, 2009
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถ้าจะหาหนังสือการลงทุน 10 เล่มที่เราควรอ่านก่อนที่เราจะลงทุนอย่างจริงจังหรือก่อนที่เราจะเป็นเซียนได้นั้น นี่คือหนังสือที่ผมคิดว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง และมันอยู่ในระนาบเดียวกับหนังสือคลาสสิคอื่น ๆ เช่น The Intelligent Investor และ Common Stocks and Uncommon Profits สิ่งที่แปลกออกไปก็คือ นี่ไม่ใช่หนังสือที่บอกวิธีการเลือกหุ้นที่จะทำให้เรารวยหรือได้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติ ตรงกันข้าม มันพยายามจะบอกเราว่า วิธีการเลือกหุ้นที่จะทำให้เราชนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น “ไม่มี” มันช่วยเตือนให้เราตระหนักว่า การลงทุนที่จะให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์นั้นทำไม่ได้หรือทำได้ยากมาก ที่ยิ่งทำให้เรา “หมดหวัง” ไปกว่านั้นก็คือ ข้อเขียนและเนื้อหาต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือนั้น อิงอยู่กับการศึกษาของนักวิชาการชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้น และนี่คือหนังสือชื่อ The Random Walk Down Wall Street แปลเป็นไทยก็คือ “เดินสุ่มในวอลสตรีท” เขียนโดย Burton G. Malkiel ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1973 หรือกว่า 35 ปีมาแล้ว แต่ยังมีการปรับปรุงและพิมพ์ขายใหม่มาตลอด
เนื้อหาหลักของ “Random Walk” นั้นพูดถึงทฤษฎีการลงทุนว่ามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรกที่เชื่อว่าราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของจิตวิทยาของนักลงทุนเป็นหลัก โดยที่พื้นฐานของกิจการนั้นมีผลเพียงแค่ 10-20% กลุ่มนี้ ถูกเรียกว่ากลุ่ม “วิมานในอากาศ” หรือ Castle-in-the Air Theory อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เชื่อว่าราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของกิจการเป็นหลักในขณะที่จิตวิทยานั้น ถ้าจะมีผลก็ไม่เกิน 10-20% เช่นกัน เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม “พื้นฐานของกิจการ” หรือ Firm-Foundation Theory โดยกลุ่มแรกนั้น คนที่เชื่อก็จะใช้เครื่องมือที่จะสามารถ “จับกระแสหรือจิตวิทยา” ของนักลงทุนเพื่อที่จะนำมาใช้ในการซื้อหรือขายหุ้นที่จะทำให้ได้กำไร เครื่องมือหลักอย่างหนึ่งก็คือ เส้นกราฟของราคาหุ้นแต่ละตัวและดัชนีตลาดรวมถึงปริมาณการซื้อขายของหุ้นด้วย ส่วนการวิเคราะห์ที่ใช้ก็คือ “การวิเคราะห์ทางเทคนิค”
กลุ่มที่สองนั้น คนที่เชื่อก็จะใช้ “ข้อมูลพื้นฐาน” ของกิจการ เช่น ยอดขาย กำไร การเติบโตของเงินปันผลและฐานะทางการเงินของกิจการ มาพิจารณาและคำนวณหา “มูลค่าที่แท้จริง” หรือที่เรียกว่า Intrinsic Value ของหุ้น เพื่อที่จะพิจารณาว่าราคาหุ้นในตลาดนั้นสูงหรือต่ำกว่า ถ้าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เขาก็ซื้อ เพราะเขาเชื่อว่าในที่สุดราคาตลาดจะต้องวิ่งไปหาราคาที่แท้จริงเสมอ และคนที่เชื่อในทฤษฎีนี้ก็คือพวกนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหลาย ซึ่งแน่นอน รวมถึง Value Investor ด้วย
แต่ Malkiel บอกว่าราคาหุ้น โดยเฉพาะในช่วงสั้น ๆ นั้น “คาดไม่ได้” และ “ไม่มีแบบแผน” มันเหมือนกับคนเมาที่ “เดินสุ่ม” นั่นคือ เขาจะเดินมาอย่างไรก็ตาม แต่ก้าวต่อไปของเขานั้นไม่รู้ว่าจะไปซ้ายหรือขวา หน้าหรือหลัง ไม่มีใครรู้ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะใช้เท็คนิคอะไรก็ไม่ได้ผล ในบางครั้งบางคราวก็ดูเหมือนว่ามีเท็คนิคบางอย่างสามารถนำมาใช้ทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นได้ แต่ผ่านไปสักพักเมื่อมีคนรู้นำมาใช้มากขึ้น เท็คนิคนั้นก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
พื้นฐานหลักที่ทำให้เราไม่สามารถเอาชนะตลาดหรือทำกำไรได้มากกว่าปกติไม่ว่าจะใช้เท็คนิคอะไรนั้น Malkiel บอกว่าเป็นเพราะตลาดหุ้นนั้น “มีประสิทธิภาพ” ในการที่จะปรับราคาหุ้นให้สะท้อนถึงพื้นฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือหุ้นได้รวดเร็วมาก และโดยเฉลี่ยแล้วราคาหุ้นก็ปรับตัวได้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นหมายความว่า บางครั้งราคาหุ้นก็ “ผิด” ไปจากที่ควรจะเป็นเหมือนกัน เช่น ราคาอาจจะสูงเกินไป หรือบางช่วงราคาก็อาจจะต่ำเกินไป แต่ในไม่ช้ามันก็สามารถปรับให้ราคาเข้ามาใกล้เคียงกับที่มันควรเป็น พูดง่าย ๆ ตลาดหุ้นคอยปรับให้ราคาหุ้นมีราคาโดยเฉลี่ยแล้วเหมาะสมอยู่เสมอ อย่าพยายามหา “ราคาที่เหมาะสม” ในทางทฤษฎีหรือทางจิตวิทยาเลย
ด้วยแนวความคิดและความเชื่อในเรื่องของความมีประสิทธิภาพของตลาดและเรื่องการ “เดินสุ่ม” ของราคาหุ้นดังกล่าว Malkiel จึงคิดว่าเราไม่ควรเลือกซื้อขายหุ้นเอง เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์และต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูง แต่หุ้นนั้น โดยเฉลี่ยในระยะยาวแล้วให้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นเขาได้เสนอกลยุทธ์ในการลงทุนต่าง ๆ ที่นักลงทุนควรทำ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนีตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการลงทุนลง และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐมอบให้ อย่างกรณีของไทยก็คงคล้ายกับการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF เป็นต้น
นอกจากทฤษฎีการลงทุนและแนวความคิดหลักของหนังสือแล้ว สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าโดยเฉพาะสำหรับ Value Investor ก็คือ มันเป็นหนังสือที่ “เล่าประวัติศาสตร์” การลงทุนย้อนหลังไปยาวนานมากได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของบุคคล แต่เป็นประวัติศาสตร์ของตลาดและแนวความคิดการลงทุนเป็นยุค ๆ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และทุกอย่างมีวิชาการประกอบ แต่ขณะเดียวกันเป็นหนังสือที่อ่านได้ไม่ยากสำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เรียนมาทางสายการเงินโดยตรง สำหรับผมแล้ว มันเป็นหนังสือคลาสสิคที่อ่านแล้ว “ไม่หลับง่าย” เหมือนหนังสือคลาสสิคหลาย ๆ เล่ม
นักลงทุนโดยเฉพาะ Value Investor ที่ประสบความสำเร็จสูงหลายราย อาจจะมี “อคติ” กับแนวความคิดที่ว่า “ไม่มีใครสามารถสร้างผลตอบแทนเหนือกว่าปกติได้” ในหนังสือเล่มนี้และพลอยทำให้ไม่อยากอ่าน เพราะเขาอาจคิดว่าตัวเองสามารถทำกำไรมหาศาลได้ด้วยการวิเคราะห์และลงทุนแบบ Value Investment ดังนั้น หนังสือเล่มนี้คงจะ “ผิด” และเป็นเรื่องของนักวิชาการบนหอคอยงาช้างที่ไม่เข้าใจโลกที่เป็นจริง ข้อนี้ผมคิดว่าต้องคิดใหม่ อย่าลืมว่าคนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ นอกจากเป็นนักวิชาการแล้ว เขายังเป็นผู้บริหารระดับสูงมากในธุรกิจการเงินและการลงทุนด้วย เหนือสิ่งอื่นใด VI ที่ดีนั้น ต้องเปิดกว้างรับความเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งจากคนที่ “มองต่าง” ด้วย

http://www.thaivi.com/2009/08/34/

บ้าน VI

บ้าน VI
โลกในมุมมองของ Value Investor August 31, 2009
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บ้านคือวิมานของเรา… นั่นคือเริ่มต้นของเนื้อร้องของเพลงเกี่ยวกับบ้านที่คนรุ่นเก่ามักจะจำและร้องได้ มันสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนต่อบ้านที่พักอาศัยว่า บ้านนั้นเป็น “ความฝัน” ที่ทุกคนอยากมี และไม่ใช่แค่อยากมี แต่อยากมีบ้านที่ใหญ่และสวยที่สุดที่เขามีปัญญาจะซื้อได้ ดังนั้น บ้านจึงมักเป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่คนต้องทุ่มเทเงินออมรวมทั้งรายได้จำนวนมากลงไปเพื่อที่จะได้มี “บ้านในฝัน” ที่ต้องการ สำหรับคนจำนวนมาก การผ่อนบ้านเป็นรายจ่ายประจำเดือนที่สูงมากจนทำให้ไม่เหลือเงินเก็บเพื่อการลงทุนอย่างอื่นเลย แต่เขาก็มักจะไม่กังวลอะไรนัก เพราะสำหรับเขา การซื้อบ้านก็คือการลงทุนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง และถ้าจะว่าไป บ้านนั้น ราคาแทบจะไม่เคยตกลงเลย ดังนั้น การซื้อบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ก่อนที่จะเป็น Value Investor ผมเองก็คิดอย่างนั้น ว่าที่จริงผมเคยซื้อบ้านหรูใหญ่โตอยู่นอกเมืองและต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งส่วนตนในขณะนั้นเพื่อที่จะเป็นเงินดาวน์ และต้องผ่อนค่างวดให้กับสถาบันการเงินคิดเป็นรายจ่ายต่อเดือนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินเดือนของตนเอง ผมซื้อทั้ง ๆ ที่มีบ้านหลังเล็ก ๆ ของแม่ยายที่ผมอาศัยอยู่แล้วกลางใจเมืองโดยที่ไม่ต้องซื้อหรือเช่า บ้านหรูหลังนั้นผมไม่เคยได้เข้าอยู่อาศัยเลยเพราะมัน “ไม่มีความสะดวก” เลย เนื่องจากมัน “ไกล” และ “ใหญ่” เกินไป ผมปล่อยบ้านให้เช่าในราคาที่ “ไม่คุ้มค่า” อยู่หลายปี
หลังจากที่เป็น VI แล้ว ผมก็เห็นว่าบ้านหลังนั้นคงจะไม่ใช่ “วิมาน” อีกต่อไป และโอกาสที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในระยะเวลาอันใกล้ก็คงมีน้อย ในที่สุดผมก็ขายมันไปและนำเงินมาลงทุนในหุ้น ราคาขายบ้านที่ลงทุนมานับสิบปีแทบจะไม่มีกำไร แต่เงินที่ได้รับและนำมาลงทุนในหุ้นนั้น หลังจากผ่านไป 6-7 ปีเติบโตขึ้นมาก และถ้าผมขายหุ้นและนำกลับไปซื้อบ้านในเวลานี้ ผมอาจจะซื้อบ้านแบบเดียวกันได้ 2 หลัง แต่ผมก็คงไม่ทำ ผมมีบทเรียนแล้ว ถ้าผมจะซื้อบ้านใหม่ ผมจะคิดอีกแบบหนึ่ง และต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับ VI โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่กำลังคิดจะซื้อบ้าน
ข้อแรกก็คือ ถ้ายังมีบ้านอยู่ เช่นอาศัยอยู่กับพ่อแม่และไม่ได้มีปัญหาเดือดร้อนหรือหนักอกหนักใจหรืออึดอัดใจอะไร ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบหาซื้อบ้าน อย่ากลัวว่าถ้าไม่ซื้อในวันนี้แล้วราคาบ้านจะขึ้นไปสูงจนไม่มีปัญญาที่จะซื้อได้ในอนาคต เพราะราคาบ้านที่อยู่อาศัยนั้น โดยทั่วไปราคาจะปรับตัวขึ้นไปช้า โดยเฉลี่ยไม่น่าจะสูงกว่าเงินเฟ้อมากนักและไม่น่าจะเกินปีละ 3 – 4% ต่อปีโดยเฉลี่ย ในทางตรงกันข้าม การมีบ้านนั้น ทำให้รายจ่ายตามมา บ้านยิ่งใหญ่ก็ยิ่งมีรายจ่ายมาก และการมีรายจ่ายมากนั้นทำให้ความมั่งคั่งลดลง และโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าก็จะหายไป ดังนั้น ข้อแนะนำของผมก็คือ “พยายามอยู่บ้านฟรีหรือมีค่าใช้จ่ายน้อยให้ยาวนานที่สุด”
ข้อสอง ถ้าจะซื้อบ้าน หลักเกณฑ์การเลือกนั้นต้องเน้นว่า บ้านนั้นต้อง “อย่าไกล” หรือห่างจากที่ทำงานหรือสถานที่ที่คนในครอบครัวต้องเดินทางไปทุกวันมาก เพราะการเสียเวลาเดินทางทุกวันนั้น เป็นต้นทุนที่สูงมากทั้งในด้านของเงินค่าเดินทาง การเสียโอกาสในการทำงานหารายได้ และเรื่องของสุขภาพกายใจ ดังนั้น ทำเลของบ้านจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการเลือกบ้าน และในกรณีที่เราเลือกคอนโดแทนที่จะเป็นบ้านเดี่ยว เราควรเลือกคอนโดที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินหรือบนดิน โดยที่คำว่าใกล้นั้น ควรจะไม่เกิน 500 เมตร อย่าเลือกที่ระยะทาง “แค่หนึ่งกิโลเมตรจากสถานี” เพราะถ้าเราต้องเดินทุกวัน ค่าเสียเวลาต่อเดือนหรือต่อปีจะสูงมาก
ข้อสาม ซื้อบ้านขนาดที่ “พอดีใช้” นั่นคือมีจำนวนห้องที่เหมาะสมกับสมาชิกในปัจจุบันและอนาคต เช่น ถ้ามีสามี ภรรยา และลูกอีกสองคน ก็เอาแค่ 3 ห้องนอนและอาจจะมีห้องทำงานเล็ก ๆ อีกหนึ่งห้องก็พอแล้ว การมีบ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็นนั้น จะทำให้เราต้องลงเงินไปมากในช่วงที่ซื้อและหลังจากนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลที่จะตามมาตลอดโดยที่เราอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย การมีบ้านใหญ่เกินความจำเป็นยังมักจะทำให้เราต้องจ่ายเงินซื้อของเข้าบ้านมากขึ้นโดยไม่จำเป็นด้วย นี่คือความจริงที่หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนัก แต่ประสบการณ์การมีบ้านเล็กนั้นทำให้ผมพบว่า เราไม่สามารถซื้อเครื่องใช้หรืออุปกรณ์หลาย ๆ อย่างได้ด้วยเหตุผลประการเดียวก็คือ “มันไม่มีที่จะวาง” ดังนั้น การมีบ้านขนาดพอดีใช้จะทำให้เราประหยัดเงินในระยะยาวอีกมาก
ข้อคิดสุดท้ายสำหรับการซื้อบ้านของผมก็คือ อย่าพยายามสร้าง “สาธารณูปโภค” เช่น สระว่ายน้ำหรือสวน ขึ้นใช้เองในบ้าน เพราะมันแพงมากและการดูแลรักษาก็ทำได้ยากและต้นทุนสูง ควรเลือกบ้านที่อยู่ใกล้สาธารณูปโภคที่เราต้องการใช้ซึ่งเป็นของรัฐหรือของคนอื่นที่เราสามารถหาซื้อได้เมื่อเราต้องการใช้จริง ด้วยเหตุนี้ บ้านที่อยู่ใกล้สวนสาธารณะที่เราสามารถพักผ่อนออกกำลังกายได้ทุกวันโดยไม่เสียเวลาเดินทางและไม่เสียเงินจึงเป็นบ้านที่มีคุณค่าสูงและเราอาจจะต้องยอมจ่ายแพงขึ้นได้ และนี่ก็เป็นการเลือกบ้านแบบ VI อีกข้อหนึ่ง
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงข้อพิจารณาบางประการที่ VI ที่กำลังคิดที่จะซื้อบ้านจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การซื้อบ้านนั้น เป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งและความสุขในระยะยาว ดังนั้น เราต้องให้เวลาในการเสาะแสวงหาและจะต้องไม่รีบร้อนถ้าเราต้องการบ้านที่เป็น “วิมาน” จริง ๆ

http://www.thaivi.com/2009/08/39/

Thursday, August 5, 2010

ปีทอง

ปีทอง
โลกในมุมมองของ Value Investor July 25, 2009
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ชีวิตของคนเรานั้นมีช่วงที่ดี แย่ แย่มาก และดีมาก อาชีพของคนบางประเภทมักจะมีช่วงที่ดีและแย่แตกต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น นักแสดงนักร้องและนักกีฬาอาชีพนั้น ช่วงที่ดีมากของนักแสดงก็คือช่วงที่มีงานแสดงเข้ามามาก มีหนังหรือละครที่เป็นที่นิยมคนดูติดกันงอมแงม และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยงานการถ่ายแบบโฆษณาซึ่งทำรายได้มากมหาศาล ถ้าเป็นนักร้องหรือนักกีฬาก็เป็นช่วงที่เพลงติดชาร์ทหรือเป็นช่วงที่แข่งชนะในรายการสำคัญ ๆ ซึ่งมักจะตามมาด้วยชื่อเสียงและสุดท้ายก็คือโฆษณาซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญมาก นอกจากเรื่องของเงินและชื่อเสียงแล้ว ความรู้สึกที่ดีในการเป็นคนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็มักทำให้เจ้าตัวมีความสุขด้วย ช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ดังกล่าวนั้น ถ้าจะให้เรียกอย่างที่พูดแล้วเข้าใจได้ทันทีก็คือ เป็น “ปีทอง”
ชีวิตนักลงทุนเองก็เป็นชีวิตที่มีขึ้นมีลงคล้ายกับชีวิตของพวกนักแสดงเหมือนกันนั่นก็คือ ช่วงที่ขึ้นอาจจะดีมาก ในขณะที่ช่วงตกต่ำก็ย่ำแย่มากได้เช่นเดียวกัน ความแตกต่างอาจจะมีบ้างที่นักลงทุนนั้นมีชีวิตที่ยาวกว่านักแสดงหรือนักกีฬา นอกจากนั้น นักลงทุนไม่ได้ถูกกำหนดโดย “ช่วงเวลาทอง” หรือช่วงเวลาที่ชีวิตมีศักยภาพสูงสุดในการสร้างความสำเร็จอย่างนักแสดงหรือนักกีฬา พูดง่าย ๆ นักลงทุนอาจจะมี “ปีทอง” ไปได้เรื่อยจนกว่าชีวิตจะหมดสมรรถภาพ ในขณะที่นักแสดงและนักกีฬามักจะมีโอกาสทำได้ดีในช่วงที่ยังเป็นหนุ่มสาวเท่านั้น มาดูกันว่า สำหรับนักลงทุนแล้ว อะไรเป็นตัวที่กำหนดว่าปีไหนเป็น “ปีทอง” ของการลงทุนหรือของชีวิตของเขา
ในความเห็นของผม เงื่อนไขของการที่จะเป็น “ปีทอง” ของนักลงทุนนั้น ข้อแรก ปีนั้นเขาควรจะได้ผลตอบแทนสูงมาก ตัวเลขของแต่ละคนอาจจะต่างกันได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องขนาดของพอร์ตโฟลิโอ การกระจายการถือครองหุ้นหรือทรัพย์สิน เป็นต้น แต่โดยทั่วไปผมคิดว่า Value Investor ผู้มุ่งมั่นควรได้ผลตอบแทนรวมของการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50% และนี่อาจจะเป็นข้อจำกัดในระดับหนึ่งเหมือนกันว่า “ปีทองของนักลงทุน” คนหนึ่งนั้น มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เป็น “ปีทองของตลาดหุ้น” เพราะว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นดีมาก โอกาสก็สูงที่เราจะทำผลตอบแทนได้ดีมากเช่นเดียวกัน แต่นี่ก็ไม่เสมอไป บางทีเราอาจจะทำได้ดีในช่วงที่ตลาดไม่ดีก็ได้ หรือในช่วงที่ตลาดดี เราก็อาจจะทำได้ไม่ใคร่ดีก็ได้
เงื่อนไขข้อสอง ซึ่งที่จริงก็ต่อมาจากข้อแรกก็คือ ปีทองควรเป็นปีที่เราทำได้ดีมากและเราต้องพอใจกับผลงานการลงทุนของเราด้วย ดังนั้น เราควรสร้างผลตอบแทนรวมได้สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ในปีนั้น และคำว่าผลตอบแทนรวมของเรานั้น ผมหมายถึงผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ตทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องทั้งหมดของเราซึ่งรวมถึงเงินฝากและพันธบัตรหรือหน่วยลงทุนต่าง ๆ ของเราด้วย ดังนั้น ปีทองของการลงทุนของเราแทบจะเกิดไม่ได้เลยถ้าเงินส่วนใหญ่ของเราถูกฝากอยู่ในธนาคารที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก
เงื่อนไขข้อสาม พอร์ตทรัพย์สินสภาพคล่องของเราควรจะอยู่ที่จุดสูงสุดหรือ “All Time High” นั่นก็คือ เป็นช่วงเวลาที่ความ “มั่งคั่ง” ของเราสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เงื่อนไขข้อนี้มีขึ้นเพื่อที่จะตัดความลำเอียงที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ปีที่ผ่านมาพอร์ตเราอาจจะตกลงไปเยอะมากและผลตอบแทนในปีปัจจุบันอาจจะดีขึ้นมากแต่ก็ยังไม่สามารถ “ชดเชย” การขาดทุนในปีที่ผ่าน ๆ มาได้ ลักษณะเช่นนี้ เรายังไม่ควรเรียกว่าเป็นปีทอง เพราะคำว่าปีทองนั้นควรเป็นปีที่เรา “ร่ำรวยที่สุด” เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา
เงื่อนไขข้อสี่ ความมั่งคั่งโดยรวมของพอร์ตการลงทุนของเราควรจะเพิ่มขึ้นมากพอที่จะเรียกว่ามาก จำนวนเท่าไรคงบอกไม่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนบอกว่าได้กำไรปีนี้หนึ่งล้านบาทก็เป็นปีทองได้แล้วในขณะที่บางคนต้องเป็นสิบหรือร้อยล้านบาทถึงจะเรียกว่าปีทอง และนี่นำไปสู่เงื่อนไขข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ
เงื่อนไขข้อห้า มันเป็นปีที่เราบรรลุถึง “หลักไมล์สำคัญ” เช่น เรามีเงินจากการลงทุนมากพอที่จะทำให้เรา มี “อิสรภาพทางการเงิน” ในระดับหนึ่ง หรือระดับสองหรือสาม หรือเรามีเงินครบล้านบาท หรือสิบล้านหรือร้อยล้านบาทตามที่เราได้ตั้งเป้าหมายในระยะยาวไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเงื่อนไขบางส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญ การกำหนดหรือคิดว่าเป็น “ปีทอง” ของแต่ละคนนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน หลักสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ปีทองก็คือต้องเป็นปีที่ดีมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับผลงานในอดีตของเราเองด้วย
ก่อนจะจบบทความนี้ และด้วยภาวะตลาดหุ้นที่สดใสมากนับถึงวันนี้ประมาณครึ่งปีที่ตลาดหุ้นให้ให้ผลตอบแทนกว่า 30% แล้ว ผมหวังว่า Value Investor รุ่นเก่าหลายคนจะได้พบกับ “ปีทอง” ของตนเองอีกปีหนึ่ง และสำหรับ VI รุ่นใหม่จำนวนที่มากกว่ามากที่ยังไม่เคยพบกับ “ปีทอง” เลยนั้น ผมหวังว่า เมื่อสิ้นปีนี้ ถ้าทุกอย่างยังดีอยู่ เราอาจจะได้จารึกและจดจำว่า นี่คือ “ปีทองของการลงทุน” ที่เรามีความรู้สึกที่ดีและมีความสุขมากจากการลงทุน

http://www.thaivi.com/2009/07/15/