โฆษณา

Wednesday, February 6, 2008

ทำสัญญาประกันภัยอย่างไร

การซื้อประกันชีวิตไม่เหมือนกับการซื้อสินค้าที่มีรูปลักษณะ ซื้อสินค้า เช่น ซื้อตู้เย็น เอาเงินไป ตรวจดูตู้เย็นที่จะซื้อ แล้วขนกลับไปมีใบรับรองสินค้า หากเสียหายภายใน 1 ปี จะซ่อมให้ฟรี ยกเว้นการเสียหายเกิดจากการใช้หรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไหล่
หรือการซื้อที่ดิน เอาเงินไป เอาโฉนดไปโอนกันที่ที่ดินจังหวัด จบ สัญญามีไหม ถ้ายังไม่โอน ก็ทำสัญญาจะซื้อจะขาย ถ้าโอนกันแล้วมีภาระเรื่องเงินหรือไม่ ถ้ายังมี ก็ทำสัญญาอีกตัว ถ้าจำนองก็เปลี่ยนมือกันอย่างนี้เป็นต้น
แต่สัญญาประกันชีวิต อยู่ตรงไหน ..
ส่วนของสัญญาประกันชีวิตที่ใช้เป็นหลักฐาน เริ่มกันตั้งแต่ใบคำขอเอาประกันภัย ใบยืนยันหรือแถลงสุขภาพ ใบตรวจสุขภาพ เอกสารประกอบอื่นๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รวมไปถึงกรมธรรม์ประกันชีวิตที่บริษัทออกให้กับผู้เอาประกันภัย
ปกติสัญญาอื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญญาประกันภัย จะต้องมีลายเซ็นของทั้งสองฝ่ายลงนามและมีพยานเซ็นเป็นสักขีพยาน แต่สัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัย กับผู้แทนบริษัทจะเซ็นสัญญากันคนละฉบับ ผู้เอาประกันก็จะเซ็นในส่วนเอกสารที่ส่งบริษัทคือใบคำขอ ใบแถลงสุขภาพ ใบตรวจสุขภาพเซ็นรับรอง สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ
แต่ส่วนของบริษัทก็คือการรับรองการรับประกันภัย ที่ปรากฏในใบหน้าของเอกสารกรมธรรม์ประกันชีวิต และเนื้อในของกรมธรรม์ซึ่งเราเรียกกันว่าเงื่อนไขกรมธรรม์บริษัทจะจ่าย จะไม่จ่าย จ่ายอย่างไร หรือถ้าไม่จ่ายทำอะไรต่อไป จะอยู่ในเงื่อนไขนั้น
ส่วนของบริษัทนี้สำคัญมาก เพราะขนาดกรมการประกันภัยให้ความสำคัญมอบสิทธิ์กับลูกค้าเมื่อรับกรมธรรม์แล้วสามารถอ่านทบทวนความพึงพอใจ ว่าตรงกับที่ตัวแทนของบบริษัทเคยมาอธิบายให้ฟังหรือไม่ หรือตรงกับใจตนเองหรือไม่ ถ้าพอใจก็สมบูรณ์ แต่ถ้าไม่พอใจให้แจ้งบริษัทเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับจากวันรับกรมธรรม์ ก็สามารถยกเลิกการรับประกันภัยครั้งนั้นได้และจะได้รับเบี้ยประกันภัยคืนภายหลัง โดยที่บริษัทไม่สามารถคัดค้านแต่อย่างใด
ต่อไปนี้ จะเป็นการทำความเข้าใจถึงสัญญาประกันชีวิต 2 ส่วนดังกล่าวข้างต้นให้ทราบอย่างละเอียด
ส่วนแรกที่ผมบอกว่า เป็นของผู้เอาประกันภัย
ในการตัดสินใจทำประกันชีวิต นอกจากจะพิจารณาถึงแบบของการประกันชีวิตและความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว การกรอกใบคำขอเอาประกันภัยมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะใบคำขอเอาประกันภัยจะใช้เป็นหลักฐานในการแสดงเจตนาการทำประกันชีวิตและมีผลต่อการพิจารณารับประกันภัยด้วย
บริษัทได้ทำแบบฟอร์มลักษณะตอบคำถาม ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวต้องขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ผู้เอาประกันภัยสามารถกรอกหรือทำเครื่องหมายได้ไม่ยากนัก ต้องกรอกและทำเครื่องหมายได้ไม่ยากนัก ต้องกรอกและทำเครื่องหมายให้ครบถ้วนทุกแห่ง มิฉะนั้นบริษัทจะไม่ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้
ข้อสำคัญที่สุดคือ ต้องกรอกใบคำขอเอาประกันภัยตามความเป็นจริงทุกประการด้วยตนเอง หรือหากผู้อื่นกรอกให้จะต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนลงลายมือชื่อหากปิดบังหรือไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัย
บริษัทอาจบอกล้างกรมธรรม์ประกันภัยได้ แม้ว่าจะได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว หรือหากผู้เอาประกันภัยถึงแก่กรรมแล้ว บริษัทก็มีสิทธิบอกล้างกรมธรรม์ประกันภัยได้ ผู้รับประโยชน์ก็จะไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย รายละเอียดในใบคำขอเอาประกันภัย จะประกอบด้วย
1. ชื่อ-ชื่อสกุล และอายุของผู้เอาประกันภัย 2. ที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย 3. อาชีพของผู้เอาประกันภัย 4. จำนวนเงินเอาประกันภัย 5. ผู้รับประโยชน์ 6. ประวัติการทำประกันชีวิต 7. ประวัติสุขภาพของผู้เอาประกันภัย
ส่วนที่สองคือ ส่วนของกรมธรรม์ประกันภัย
เมื่อผู้เอาประกันภัยตกลงทำประกันภัยและกรอกใบคำขอเอาประกันภัย พร้อมทั้งชำระเบี้ยประกันครบถ้วนแล้ว บริษัทก็จะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องอ่านกรมธรรม์ประกันภัยโดยละเอียด เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตรงกับความต้องการหรือไม่ และศึกษาเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมทั้งหน้าที่และสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ องค์ประกอบของกรมธรรม์ประกันภัยจะประกอบด้วย
1. หน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย เป็นรายละเอียดที่แสดงให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบว่า เมื่อบริษัทตกลงทำสัญญาประกันภัยแล้ว จะระบุรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ คือ
ชื่อ ที่อยู่บริษัท ชื่อและชื่อสกุล เอาประกันภัย อายุ เพศ ระยะเวลาเอาประกันภัย ระยะเวลา ชำระเบี้ยประกันภัย วันเริ่มสัญญาประกันภัย วันเริ่มสัญญาประกันภัย วันครบกำหนดสัญญาประกันภัย และแบบประกันชีวิต และสัญญาเพิ่มเติมที่ต้องมีการความคุ้มครอง พร้อมกับจำนวนเบี้ยประกันภัย และจำนวนเงินเอาประกันภัย และที่สำคัญต้องมีการลงลายมือชื่อกรรมการผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเพื่อพร้อมประทับตราของบริษัทไว้ด้วย
2. ข้อกำหนดการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จะระบุถึงความคุ้มครอง เงื่อนไขการจ่ายเงินและผลประโยชน์ที่ผู้เอาประกันภัยพึงได้รับ
3. สัญญาหรือกรมธรรม์ประกันภัย เป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่บริษัทมีต่อผู้เอาประกันภัย เช่น การแถลงอายุหรือเพศคลาดเคลื่อน การเปลี่ยนแบบประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย การเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย สิทธิและการใช้สิทธิในกรมธรรม์ประกันภัย การชำระเบี้ยประกันภัย ระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้น
4. ตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันไม่สามารถชำระเบี้ยประกันภัยได้ ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิด้วยการขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย การเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เป็นแบบใช้เงินสำเร็จหรือขยายเวลา และในกรณีที่กรมธรรม์มีผลคับ และกรมธรรม์มีมูลค่าเวนคืนเงินสดแล้ว ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิในการก็เงินได้อีกด้วย
ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่ประสงค์หรือสนใจจะทำประกันชีวิต ก็คงจะรู้สึกอบอุ่นและสบายใจได้ว่าสัญญาประกันชีวิตมีจริง มีมากรายละเอียดและสามารถนำเป็นหลักฐานในระยะเวลา 10 - 20 ปี ที่เราทำประกันชีวิตไว้ได้อย่างแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง


บทความจาก นิตยสาร Thailand Insurance

No comments: