โฆษณา

Saturday, November 10, 2007

จังหวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เมื่อไรที่ท่านควรจะเข้าลงทุนในตลาดหุ้น และเมื่อไรที่ท่านควรจะออกจากตลาดหุ้น
ไม่เพียงแต่ผู้ลงทุนรายย่อยเท่านั้นที่มักจะตัดสินใจลงทุนในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญบ่อยครั้งก็ตัดสินใจลงทุนในช่วงเวลาที่ ไม่เหมาะสมเช่นกัน เคล็ดลับในการลงทุนจึงดูเหมือนว่าจะเป็นระยะเวลาที่ลงทุนไม่ใช่การกะจังหวะการลงทุนแต่อย่างใด แต่ก็แน่นอนว่าจังหวะ ในการลงทุนถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการหลีกเลี่ยงจากความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสถิติ ที่ผ่านมาผู้ลงทุนที่ใช้กลยุทธ์การกำหนดจังหวะการลงทุนมักจะไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน กุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการลงทุนคือความมีวินัย ซึ่งความมีวินัยเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคน แต่เมื่อวกมาเข้าเรื่องการลงทุนเรามักจะลืมเรื่องดังกล่าวเสียสนิท เรามักจะได้ยินเรื่องราวของนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่พากันกรูเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นที่กำลังร้อนแรง และกระโดดออกเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ควรจะลงทุน นักลงทุนเหล่านี้ไม่ได้นึกถึงเหตุผลที่เป็นตัวผลักดันให้พวกเขาตัดสินใจเข้ามาลงทุนในครั้งแรก แต่มักจะปล่อยให้ความตื่นตระหนกมาครอบงำจิตใจแทน
การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) คืออะไร
การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนเป็นเทคนิคการลงทุนแบบหนึ่งที่สามารถลดความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนระยะยาวแต่ทั้งนี้ท่านต้องมีระเบียบวินัยในการลงทุน โดยหลักการแล้วการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนเป็นการใช้ประโยชน์จากการที่ภาวะตลาดฯ มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง แทนที่จะคาดคะเนจังหวะสูงต่ำของตลาดฯ ท่านควรจะลงทุนอย่างสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆกันการลงทุนอย่างสม่ำเสมอนี้ไม่เพียงเป็นเพียงการฝึกนิสัยที่ดีให้กับตนเอง แต่เป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพทำให้ท่านสามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนที่วางไว้ ด้วยเงินลงทุนที่เท่าๆกันในแต่ละงวด ท่านจะได้รับจำนวนหน่วยลงทุนมากขึ้นเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนลดลงและจะได้น้อยลงเมื่อราคาสูงขึ้นซึ่งจะทำให้ท่านสามารถลดต้นทุนเฉลี่ยของการลงทุนลงไปได้ วิธีนี้จะได้ผลดีที่สุดเมื่อท่านลงทุนอย่างต่อเนื่องตามกำหนดการที่วางไว้โดยไม่สนใจความผันผวนของราคาในแต่ละขณะ
ตัวอย่างการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน

สมมติว่าท่านคิดจะลงทุนทุกเดือนๆละ 10,000 บาท ในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น ซึ่งราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามการขึ้นลง ของราคาหุ้นที่กองทุนไปลงทุนเอาไว้ ดังนั้นหากท่านซื้อมาในเดือนแรกที่ราคา 10 บาท ด้วยเงินลงทุน 10,000 บาท ท่านจะได้หน่วยลงทุน 1,000 หน่วย ซึ่งเป็นไปได้ว่าในระยะเวลาสี่เดือนถัดมา มูลค่าหน่วยลงทุนค่อยๆลดลงมาที่ราคา 5 บาท ซึ่งตอนนี้ความมีวินัยจะมีความสำคัญมาก และท่านต้องไม่ให้ความตื่นตระหนกเข้าครอบงำเมื่อตลาดหุ้นเริ่มซบเซา จากตัวอย่างข้างบนท่านจะเห็นว่า การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุนมิใช่การรับประกันผลตอบแทนการลงทุนเพราะหากท่านตื่นตระหนก และขายหน่วยลงทุนออกในช่วงที่หุ้นตกถึงจุดที่ต่ำมากๆ ท่านก็ยังคงขาดทุนแน่นอน แต่ถ้าท่านมีวินัยและดำเนินตามแผนการลงทุนที่ตั้งไว้ สมมุติว่าใน เดือนที่แปด สถานการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นฟื้นตัวกลับมาจนทำให้ราคาหน่วยลงทุนกลับมาอยู่ที่เดิมคือ 10 บาท ท่านก็จะมีกำไรจากการลงทุนสูง ถึงเกือบ 38 % ทีเดียว
สร้างผลตอบแทนและลดความเสี่ยงด้วยการลงทุนระยะยาว

Wednesday, November 7, 2007

'มาชานลี' แนะวิธีรวย

"มาชานลี" หรือ "ชาญ บูลกุล" เล่า "สูตรเด็ดเคล็ดลับ" การลงทุนผ่านตลาดหุ้นให้ "กรุงเทพธุรกิจ BizWeek" ฟังว่า นักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งหัดลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ควรยึดเคล็ดลับง่ายๆ 3 ประการ คือ
1.ต้องยอมเสียเวลาในการศึกษาโครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างผู้ถือหุ้น และกระแสข่าวต่างๆ ก่อนจะตัดสินใจลงทุน อย่าทำตัวเป็น "ปิง" เพื่อนไปไหน "ข้าไปด้วย"
เห็นมาเยอะแล้วที่ "ขาดทุน" เพราะคำว่า "เกรงใจเพื่อน" นี่ละ
2.ต้องดูแลหุ้นด้วยตัวเอง และต้องใส่ใจอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ทิ้งๆ ขว้างๆ หรือมอบหมายให้คนอื่นดูแล เป็นประเภทเชื่อใจ "ชาวบ้าน" มากเกินไป คนเล่นหุ้นแบบนี้ไม่มีทางรวย และ

3.ต้องเกาะติดสถานการณ์รอบด้านอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในประเทศ และต่างประเทศ เช่น หากรู้อยู่แล้วว่าจะมีการเลือกตั้งสิ้นปี ก็ควรเข้าไปเก็บหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีล่วงหน้า 3-6 เดือน ไม่ใช่เพิ่งมาซื้อตอนใกล้วันเลือกตั้ง เพราะวันที่เราซื้อ ก็คือวันที่คนอื่นขาย เป็นต้น
"ถ้าเข้าไปลงทุน "ผิดจังหวะ" รับรองเลยว่า "กำไร" สักแดงก็ไม่มีทางได้เห็น แม้ว่าเวลานั้นปัจจัยพื้นฐานของหุ้นจะไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม เพราะนักลงทุนบ้านเราเป็นจำพวก "ขี้กลัว" อะไรมากระทบก็พากันเทขายหมด ไม่สนใจคำเตือนของคนอื่น
ปัจจัยภายนอกประเทศ มักจะทำให้ราคาหุ้นทุกกลุ่มร่วงเป็นแถว ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มแบงก์ หรือหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูงๆ ดูอย่างที่ผ่านมา หุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) เคยอยู่ที่ 130 บาท หลังจากสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ ก็หล่นมาอยู่ที่ 110 บาททันที"
นอกจากนี้นักลงทุนควรเปลี่ยนพฤติกรรมเป็น "ซื้อถูก ขายแพง" ไม่ใช่ "ซื้อแพง" เพราะหวังว่าราคาจะขึ้นอีก แต่สุดท้ายจะต้องหั่นขายแบบขาดทุนสุดๆ
ขณะเดียวกันต้องเปลี่ยนจาก "เล่นสั้น" มาเป็น "ถือยาว" "ผมเชื่อว่าไม่มีนักลงทุนรายใดรวยจากการซื้อขายเพียงวันเดียว" คำยืนยันจาก "มาชานลี" ซึ่งมีประสบการณ์ในตลาดหุ้นมากว่า 20 ปี
แล้ววันนี้ "มาชานลี" ลงทุนแบบใด
เขาบอกว่า วันนี้เน้นลงทุนหุ้นที่มีอนาคต "สวย" ผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อธิบายง่ายๆ ก็คือ ต้องมองเห็นแน่ๆ แล้วว่า จะมีกำไรจากการลงทุนเฉียด 100-200%
ตัวไหนกำไรแค่ 5-10% แบบนี้จะไม่สนใจ เพราะถ้าขายทิ้งไปก็ได้ "กำไร" เพียงไม่กี่บาท "มันไม่คุ้ม" เขาว่า
"ตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ผมไม่ได้ซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์มากเหมือนในอดีต เพราะอยากทุ่มเทให้กับธุรกิจมากกว่า เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ตอนนี้มีพอร์ตลงทุนมูลค่าหลักพันล้านบาท ส่วนใหญ่จะลงทุนกลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจน้ำมัน กลุ่มสื่อสาร และหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูงๆ นอกจากนั้นยังลงทุนผ่านพันธบัตร และสะสมที่ดิน"
โดยส่วนตัวของ "มาชานลี" เขามองว่า ประเทศไทยไม่ค่อยมีแหล่งลงทุนที่หลากหลายเหมือนในต่างประเทศ
...เพราะฉะนั้นถ้าลงทุนหุ้นตัวไหน ได้กำไรเกิน 20% ถือว่า "หรู" แล้ว เพราะท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้านเช่นนี้ โอกาสที่จะกำไรจากการลงทุน มองแทบไม่เห็น


จาก กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฉบับวันที่ 2/11/2550

ประเทศน่าลงทุน จีน-อินเดีย

หนึ่งในแนวทางเลือกกองทุนเอฟไอเอฟ ในยุคความเสี่ยงสูงๆ เช่นนี้.. คือ การเลือกลงทุนแบบ "รายประเทศ" หรือรายอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพการเติบโตในอนาคตสูง หรือที่เรียกว่า "Pick up Area"
หรือเป็นแนวทางลงทุนในหลักการเดียวกันกับการเลือกหุ้นเล่น "รายตัว" (Selection)
"พิชา รัตนธรรม" ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการลงทุนธุรกิจ กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า ในยุคแรกของการลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟ กองทุนส่วนใหญ่มีนโยบายลงทุนมุ่งนำเงินไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก หรือที่เรียกว่าเป็น Global Funds ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของนักลงทุนในช่วง 3-4 ปีก่อน
แต่ปัจจุบันทางเลือกลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟ เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เพราะนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ของกองทุนที่มีในขณะนี้ มีความหลากหลายและมีสีสันมากขึ้น ตั้งแต่กระจายลงทุนในภูมิภาคต่างๆ เลือกรายประเทศ ตลอดจนรายอุตสาหกรรม
"แต่เดิมนักลงทุนจะคุ้นเคยกับเอฟไอเอฟที่กระจายลงทุนไปตลาดหุ้นทั่วโลก หรือ โกลบอล ฟันด์ แต่ยุคนี้นักลงทุนควรจะเลือกกองทุนในลักษณะ Pick up Area หรือ Country Fund ที่เน้นลงทุนเจาะประเทศใดประเทศหนึ่ง เหมือนกับการเลือกหุ้นรายตัวที่มีศักยภาพ จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี และได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวน้อยกว่า"
พิชาให้แนวทางกว้างๆ ว่า นักลงทุนควรจะเริ่มจากการดูภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ก่อนว่าดีหรือไม่ มีผลกระทบอะไรบ้าง ตลอดจนผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เทียบกับเงินฝากเป็นอย่างไร
"การแบ่งเงินลงทุนไปลงทุนในเอฟไอเอฟ ในภาวะที่หวั่นเกรงว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอ ถ้าคิดจะซื้อกองทุนเอฟไอเอฟ ควรจะซื้อกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในประเทศจีน อินเดีย จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการกระจายลงทุนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีสินค้าออกมาให้เลือกมากขึ้น"
โดยเฉพาะตลาดหุ้นของประเทศในเอเชีย อย่างหุ้นจีนและอินเดีย ที่การเติบโตของเศรษฐกิจกำลังร้อนแรงและได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์น้อยกว่าภูมิภาคอื่นของโลก
เขามองว่า การขยายตัวเศรษฐกิจจีนและอินเดีย มีแนวโน้มที่จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 9-10% การนำเงินไปลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟ ประเภทหุ้น จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนเอฟไอเอฟตราสารหนี้
"กองทุนเอฟไอเอฟ เริ่มเข้าไปลงทุนในจีนและอินเดีย เพราะเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในโลก อย่างตลาดหุ้นอินเดียไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบเช่น สงคราม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น หรือโรคซาร์ส แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็มีการซื้อหุ้นกลับ โดยเฉลี่ยหุ้นจีนและอินเดียให้ผลตอบแทน 40% ต่อปี สูงสุดในโลก" พิชากล่าว
สำหรับกองทุนเอฟไอเอฟที่ลงทุนในจีนและอินเดีย ที่ออกมาเสนอขายช่วงนี้ ก็เช่น “กองทุนเปิด ทิสโก้ ไชน่า อินเดีย ดิวิเดนด์ ฟันด์” ของบลจ.ทิสโก้ เน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีนและอินเดีย เปิดจองซื้อครั้งแรกระหว่างวันที่ 1-12 ตุลาคม 2550 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 20,000 บาท
โดยกองทุนนี้มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ในต่างประเทศ ที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนจัดตั้ง หรือประกอบธุรกิจในจีนและอินเดีย ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสในการทำกำไร
บริษัทจะจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิ
นอกจากนั้น ยังมีกองทุนเปิด "แอสเซท พลัส เอเชี่ยน สเปเชี่ยล ซิททูเอชั่นส์" ของบลจ.แอสเซท พลัส ที่มุ่งลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศเอเชีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ผ่านกองทุน Fidelity Adveisor World Asian Special Situation Fund ซึ่งเป็นกองทุนเปิดบริหารและจัดการโดย Fidelity Management & Research Company (FMR) กำหนดเสนอขายระหว่างวันที่ 15-25 ตุลาคม 2550
"ทางเลือกลงทุนในประเทศทวีปเอเชีย มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นไทย เพราะเศรษฐกิจของประเทศเอเชียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาซับไพรม์ที่ส่งผลต่อประเทศเอเชียได้ลดลง" ลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส กล่าว


จาก กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฉบับวันที่ 5/10/2550

20 แบงก์ตื่น 'แท็ปสาย' ลงขัน 200 ล้านผุดโปรแกรมซอฟต์แวร์

ปัญหาการทุจริตบัตรเครดิตที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ 20 สถาบันการเงินในประเทศ ไม่อาจนิ่งนอนใจ ถึงขั้นยอมลงขันเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท ร่วมกับวีซ่า เพื่อ "วางระบบ" ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งในเชิงมูลค่าและความเชื่อมั่น
การวางระบบ "ซอฟต์แวร์" Terminal line-encryption ในเครื่องรูดบัตรชนิด EDC (Electronic Data Capture) ทั่วประเทศจะแล้วเสร็จในปลายปี 2550
"สมชาย พิชิตสุรกิจ" หัวหน้าคณะทำงานป้องกันการทุจริตบัตรเครดิต ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต เล่าว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คดีปลอมแปลงบัตรเครดิตกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซีย ที่รับรู้กันว่ามีคดีอาชญากรรมบัตรเครดิตติดอันดับโลก ทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องออกกฎเหล็กเมื่อปลายปี 2547 กำหนดให้สถาบันการเงินที่ออกบัตรจะต้องใช้วิธี "ฝังชิพ" เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลผ่านบัตรเครดิต ด้วยการแท็ปสายโทรศัพท์ผ่านเครื่องรูดบัตรชนิด EDC (Electronic Data Capture)
ส่วนในเมืองไทย เฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ไทยได้รับความเสียหายประมาณ 450 ล้านบาท ไม่นับการทลายแก๊งแท็ปสายโทรศัพท์ที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม-ตุลาคม 2550 ยังพบการปลอมแปลงบัตรเครดิตทั้งสิ้นกว่า 7,000 ใบ
เมื่อปัญหาเริ่มบานปลาย ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตที่มีสมาชิกประมาณ 20 ธนาคาร จึงร่วมกับวีซ่า ลงขันในวงเงินกว่า 200 ล้านบาท เพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์กำหนด "รหัสผ่าน" ทางสายโทรศัพท์ (Terminal Line-encryption) เพื่อป้องกันการแท็ปข้อมูลบัตรเครดิต ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2550 และมีแผนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2550
โดยขณะนี้ดำเนินการไปได้กว่า 70%
ซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะป้องกันการขโมยข้อมูลผ่านทางสายโทรศัพท์ด้วยการแปลงไฟล์เป็นข้อมูลที่ต้องใส่รหัสผ่านป้องกันการเปิดดูข้อมูลระหว่างส่งข้อมูลจากเครื่องรูดบัตรไปยังสถาบันการเงินผู้ออกบัตร
"การแท็ปสายโทรศัพท์แต่ละครั้ง จะได้ข้อมูลจำนวนมากเป็นร้อยถึงแสนข้อมูล มากกว่าเครื่อง skimmer โดยจะได้ทั้งข้อมูลของลูกค้า และธุรกรรมที่ถูกส่งผ่านเครื่องรูดบัตรเมื่อซื้อสินค้า การรูดบัตรที่ผ่านมาจะไม่มีถามหารหัสผ่าน ข้อมูลทั้งหมดจึงถูกส่งผ่านโดยตรง ทำให้มีการดักข้อมูลไว้กลางทางที่ตู้พักสายโทรศัพท์สีเขียวได้ จึงจำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมป้องกันการเข้าถึงข้อมูลก่อนส่งข้อมูลไปยังธนาคาร" สมชายเล่า
สำหรับกระบวนการลงโปรแกรมซอฟต์แวร์นั้น ทางสถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะต้องนำโปรแกรมเข้าไปติดตั้งในเครื่องรูดบัตรชนิด EDC ให้กับร้านค้าที่บอกรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทั่วประเทศ ถือเป็นต้นทุนที่สูงและใช้ระยะเวลานาน หลังจากทยอยติดตั้งซอฟต์แวร์หมดทุกห้างร้านทั่วประเทศในปลายปี 2550 เชื่อว่าตัวเลขความเสียหายจากการปลอมบัตรเครดิตจะลดลง
ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 พบว่ายังคงจับกุมผู้ปลอมแปลงบัตรเครดิตได้อย่างต่อเนื่อง เฉพาะธนาคารกสิกรไทยแห่งเดียว จับกุมได้ประมาณ 38 คดี มีผู้ต้องหา 47 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นมิจฉาชีพกลุ่มเล็ก ที่ล้วงข้อมูลจากการอ่านข้อมูลด้วยเครื่อง skimmer
ด้าน "ธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บัตรเครดิตกรุงไทย ในฐานะรองประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต เล่าถึงแผนการป้องกันของธนาคารให้ฟังว่า ค่อนข้างตื่นตัวหลังจากพบว่ามีการทุจริตบัตรเครดิตในอัตราค่อนข้างสูง โดยเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเปลี่ยนลักษณะบัตรจากบัตรที่เป็นแถบแม่เหล็กมาเป็นการฝังชิพ ซึ่งธนาคารจะเป็นผู้ลงทุน และจะค่อยๆ เปลี่ยนให้กับลูกค้าที่แจ้งความประสงค์ทันทีที่บัตรเดิมหมดอายุลง
ปัจจุบันผู้ใช้บัตรเครดิตเคทีซีเปลี่ยนมาใช้บัตรฝังชิพเกือบ 100% แล้ว เหลือเพียงบางรายที่รอบัตรหมดอายุเท่านั้น
"เมื่อก่อนจะใช้บัตรเครดิตแบบแถบแม่เหล็ก ระบบก็จะอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตร ส่งผ่านสายโทรศัพท์ ทำให้เกิดการขโมยข้อมูล แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการและร้านค้าหันมาร่วมมือกับทางวีซ่าโดยใช้บัตรเครดิตแบบติดชิพ ถือว่าป้องกันการขโมยข้อมูลได้ดี เพราะอ่านข้อมูลได้ยาก และเวลาสอดบัตรเข้าเครื่องอ่านบัตรก็จะมีการอ่านข้อมูลจากชิพแทน" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บัตรเครดิตกรุงไทย กล่าว


จาก กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฉบับวันที่ 12/10/2550

9 ทริค...พ้นเหยื่อมิจฉาชีพ 'บัตรเครดิต-เอทีเอ็ม'

มิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในคราบบุคคลธรรมดา ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่ทันตั้งตัว เพื่อความไม่ประมาทจากการโจรกรรม จึงมีเทคนิคง่ายๆ ป้องกันภัยให้รอดจากเป้าหมายของมิจฉาชีพ ดังนี้
1. กระเป๋าสตางค์หายพึงระลึกเสมอว่า...บัตรเครดิตถูกขโมย ต้องแจ้งธนาคารทันทีเพื่ออายัดหรือยกเลิกบัตร ป้องกันไม่ให้ผู้อื่นนำไปใช้ หากมีผู้นำบัตรของท่านไปใช้หลังจากท่านแจ้งธนาคารแล้ว ธนาคารจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บัญชีของท่าน
ดังนั้นยิ่งแจ้งธนาคารเร็วเท่าไหร่ ความคุ้มครองก็จะเร็วขึ้นตามไปด้วย
2. ในขณะที่ใช้บัตรเครดิตหรือเอทีเอ็ม ไม่ควรให้ใครมองเห็นมือของเรา และตรวจสอบตู้ใช้ชัดเจนว่ามีเครื่องอ่านบัตรครอบอยู่หรือไม่ รวมถึงอย่ารับความช่วยเหลือจากใคร และหากรู้สึกว่าคนที่ยืนต่อคิวข้างหลังขยับเข้ามาชิดมากเกินไป ก็อย่างเกรงใจที่จะขอให้ช่วยถอยห่างออกไปหน่อย
หลังทำรายการเสร็จสิ้นควรเก็บสลิปไว้และทำลายในที่ปลอดภัย เพราะมิจฉาชีพบางรายมีความสามารถที่จะอ่านข้อมูลในสลิปเอทีเอเอ็ม เพื่อเจาะเข้าถึงข้อมูลและเงินในบัญชี
3. ป้องกันการขโมยข้อมูลและเอกสารจากการกรอกใบสมัครต่างๆ ด้วยการเขียนให้ชัดเจนว่าเอาไปใช้ประโยชน์หรือวัตถุประสงค์อะไร
4. หากได้รับโทรศัพท์จากคนที่ไม่รู้จักและแจ้งว่าได้รับรางวัลก้อนใหญ่ หรือเสนออะไรที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องหลอกลวง
หากถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ห้ามบอกข้อมูลส่วนตัวกับผู้มาติดต่อเด็ดขาด เพราะธนาคารทั่วไปไม่เคยมีการติดต่อลูกค้าทางโทรศัพท์ เพื่อแจ้งการถูกรางวัล หรือขอข้อมูลส่วนตัว
5. หากได้รับอีเมล แอบอ้างว่ามาจากธนาคารที่เปิดบัญชีไว้ ในกรณีนี้ อาจจะกำลังตกเป็นเหยื่อของอีเมลปลอมซึ่งมักจะขอให้ยืนยันหมายเลขบัญชีและรหัสส่วนตัว
พึงระลึกไว้เสมอว่า รหัสส่วนตัว บัตร ใบแจ้งยอดบัญชี สลิปเอทีเอ็ม และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินของตนเอง ต้องไม่เปิดเผยให้ใครทราบ อีกทั้งหากได้รับอีเมล ต้องดูจากช่องเบราเซอร์ เวบไซต์ที่ปลอดภัยควรขึ้นต้นด้วย https://
6. การชำระเงินในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือร้านค้าต่างๆ หากจุดชำระเงินห่างจากจุดที่กำลังซื้อของหรือรับประทานอาหาร อาจเป็นไปได้ที่มิจฉาชีพจะแฝงมาในคราบพนักงานถือโอกาสคัดลอกข้อมูลบัตรเครดิต หรือเดบิตด้วยเครื่องอ่านบัตรแบบพกพา ดังนั้นจึงควรเดินตามพนักงาน หรือตรวจสอบจำนวนเงินที่ปรากฏบนสลิปบัตรเครดิตหรือเดบิตทุกครั้งก่อนเซ็นชื่อ ขณะเดียวกัน ก็เลือกซื้อสินค้าเฉพาะกับร้านที่ใช้ระบบ Verified by Visa และ MasterCard Secure Code จึงจะปลอดภัยกว่า
7. ข้อมูลบัตรและรหัสส่วนตัวไม่ควรเปิดเผยให้ใครรู้แม้แต่คนในครอบครัว เพราะมิจฉาชีพอาจอยู่ใกล้ตัว และหมั่นตรวจสอบรายการทำธุรกิจที่ปรากฏในรายงานแจ้งยอดบัญชี หากไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมควรรีบแจ้งและพิสูจน์
8. เมื่อบัตรเอทีเอ็มถูกยึดไว้ในเครื่อง ต้องแจ้งให้ธนาคารทราบทันที เพื่อความปลอดภัย เพราะหากมีเครื่องอ่านบัตรของมิจฉาชีพติดตั้งไว้ในเอทีเอ็ม และมีการคัดลอกข้อมูลในบัตรรวมทั้งมีการทำบัตรปลอมขึ้นมา ธนาคารจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบความเสียหายให้หลังการแจ้ง
9. หากกำลังวางแผนไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ควรใช้จ่ายด้วยบัตรหลัก พร้อมกับแจ้งให้กับธนาคารผู้ออกบัตรทราบด้วยว่าต้องการใช้บัตรในต่างประเทศ เพื่อให้ธนาคารเฝ้าติดตามบัญชีของลูกค้าว่ามีรูปแบบการใช้จ่ายที่ผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมที่ส่อว่ามีการทุจริตหรือไม่ เช่น การใช้จ่ายในต่างประเทศ หากมีการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารจะติดต่อลูกค้าเพื่อตรวจสอบว่าควรอนุมัติรายการนั้นหรือไม่ พร้อมกับติดตามดูธุรกรรมที่น่าสงสัย เช่น ซื้อสินค้าแบบเดียวกันหลายชิ้น หรือซื้อสินค้าจากคนละแห่งกับการเดินทาง หรือซื้อนอกเหนือจากวันเดินทาง


ที่มา...แหล่งข้อมูลจากธนาคารกรุงเทพ, ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต, บริษัทบัตรเครดิต เคทีซี