โฆษณา

Thursday, January 24, 2008

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี สมัยก่อน เกษตรกรจะทำการผลิตเพื่อการบริโภค โดยอาศัยธรรมชาติตามสภาพแวดล้อมมีการปลูกพืชหลากหลายชนิดคละกัน ทั้งพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร พืชใช้สอย ในลักษณะของสวนผสม พืชเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ทางนิเวศวิทยา ซึ่งกันและกัน มีความต้องการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม กับการเจริญเติมโตแตกต่างกันไป เกี่ยวกับแสงแดด อุณหภูมิความชื้น ดิน เป็นต้น เช่นพืชทรงพุ่มขนาดเล็กต้องการแสงน้อย อยู่ใต้พืชที่ทรงพุ่มใหญ่ การทำลายของโลกแมลงที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นการควบคุมพืชบางชนิดให้มีปริมาณเหมาะสมในระบบนิเวศของพืช พืชที่ขึ้นปะปนหรือคละกันมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการระบาดของโรดแมลงพืชชนิดอื่นได้ ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ต่อมามีการพัฒนาเป็นเกษตรเพื่อบริโภคและจำหน่ายจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศมุ่งเพิ่มรายได้จึงทำการเกษตรเพื่อจำหน่ายทำให้ต้องใช้ทรัพยากรจากภายนอกมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกอปรกับเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้องหันกลับมาทำการเกษตร เพื่อบริโภคและจำหน่ายในลักษณะทางเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้ง เศรษฐกิจพอเพียง อาจขยายความได้ว่าเป็นการดำเนินชีวิตหรือวิถีชีวิตของคนไทยให้อยู่อย่างพอประมาณตน เดินทางสายกลาง มีความพอดีและพอเพียง กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ สิ่งสำคัญต้องรู้จักการพึ่งพาตนเองโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และรู้จักการนำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น รู้จักการนำปัจจัยพื้นฐานมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขความสบาย และพอเพียงกับตนเอง