โฆษณา

Tuesday, December 23, 2008

ทำไมหุ้นไทยไม่ไปไหน

เท่าที่อ่านบทวิเคาระห์เกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยมาหลายปี นักวิเคาระห์ดัชนีตลาดหุ้นไทยมักออกมาฟันธงว่าหุ้นไทยจะไป 1,000 จุดเป็นประจำทุกปี เป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา ดัชีหุ้นไทยไม่เคยขึ้นไปสูงเกิน 1,000 จุดสักครั้งเดียว จุดที่ใกล้เคียงที่สุดคือในช่วงปลายปี 2547 ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นขึ้นไปถึง 920 จุดก่อนที่เกิดปัญหาซับไพร์มต้นปีจนดัชนีร่วงลงไปถึง 720 จุดก่อนที่ปรับตัวกลับมาที่ 870 จุดในเดือนพฤษภาคม และลงมาเหลือ 800 จุดในปัจจุบันภายในเวลาสองสามอาทิตย์
เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศอาเซียนที่เกิดวิกฤตค่าเงินด้วยกันแล้ว ดัชนีหุ้นประเทศอื่นๆในแถบนี้ต่างปรับตัวเกิน1,000 จุดไปนานแล้ว ไม่นับตลาดหุ้นจีนที่กำลังร้อนแรง หรือตลาดหุ้นเวียดนามที่เพิ่งเปิดดำเนินการต่างมีดัชนีแซงหน้าตลาดหุ้นไทยไปกันแทบทุกประเทศ ตัวอย่างเช่น ดัชนีตลาดหุ้นมาเลเซียในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2541 ดัชนีลดลงไปเหลือ 261 จุด ปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 1,253 จุด ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซียปีดที่ 2,362 จุด ดัชนีตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ปัจจุบันอยู่ที่ 3,028 จุด ตลาดหุ้นเหล่านี้ต่างประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ด้วยกันทั้งสิ้นและดัชนีลดลงไม่ต่างจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยสักเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคนี้ต่างให้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดหุ้นไทยมาก รวมทั้งปรับตัวเกิน 1,000 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังขึ้นๆลงๆอยู่แถวๆ 700-900 จุดไม่ไปไหนเสียทีมาหลายปีแล้ว
เหตุใดตลาดหุ้นไทยถึงไม่สมารถปรับตัวเกิน 1,000 จุดเหมือนประเทศอื่นๆได้เสียที น่าจะมีสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
ข้อแรก สาหตุจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2549 นับเป็นเวลานานกว่าสิบปีที่เหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย การมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งผู้บริหารประเทศมาจากการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความเชื่อถือมากนัก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยมีรัฐบาลมาจากเลือกตั้งเป็นเวลานาน อยู่ๆทหารออกมาฉีกรัฐธรรมมูญแล้วตั้งตนเองปกครองประเทศ สำหรับประเทศในเอเซียนั้นคงหาได้ยาก ยกเว้นหากเกิดในประเทศด้อยพัฒนาอย่างในประเทศในอาฟริกาอาจไม่น่าแปลกใจนัก นอกเหนือจากนั้นการที่มีผู้คนออกมาประท้วงรัฐบาลบ่อยๆจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ ดูเหมือนเหล่านักประท้วงหล่านั้นคิดว่าวิถีทางนี้เป็นสิ่งที่น่าปฏิบัติและน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงออกมาประท้วงกันอีกรอบเพื่อไล่รัฐบาลที่ตนเองไม่ชอบออกไป แต่ที่แปลกคือประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา มีคนไม่ชอบประธานาธิบดีบุชอยู่มากกว่าครึ่งประเทศ แต่ก็ไม่มีใครใช้วิธีการประท้วงและปฏิวัติรัฐประหารเพื่อไล่ประธานาธิบดีบุชแต่อย่างใด ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสามารถทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
เหตุผลอีกข้อหนึ่ง คือ ตลาดหุ้นไทยไม่มีหุ้นใหญ่เข้าตลาดมาเป็นเวลานานหลายปี ตั้งแต่การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตถูกศาลระงับไป ตลาดหุ้นไทยก็ไม่มีหุ้นจากบริษัทใหญ่ๆหรือรัฐวิสาหกิจขนาดแสนล้านเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นอีกเลย รวมทั้งการที่บริษัทเบียร์แห่งหนึ่งถูกประท้วงจนต้องไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน ทำให้มาร์เกตแคปของตลาดหุ้นไทยต้องอาศัยหุ้นบริษัทเดิมๆที่จดทะเบียนอยู่ก่อนแล้วเป็นตัวผลักดันดัชนี ซึ่งถ้าหุ้นบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถปรับตัวเพิ่มได้มาก ดัชนีหุ้นไทยก็ไม่สามารถไปไหนไกลได้
ดังนั้นการผลักดันให้ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 จุดนั้นทำได้โดยแปรรูปรัฐวิสากิจขนาดใหญ่เข้าตลาดหุ้นอย่างโปร่งใส และเลิกวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่ประเทศไทยเผชิญอยู่เป็นเวลากว่า 50 ปี โดยการเลิกประท้วง เลิกปฏิวัติรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลอยู่จนครบเทอม จากนั้นให้ประเทศเข้าสู่วงจรของการเลือกตั้งตามวิถีทางของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที

โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ
จาก thaivi.com

No comments: