โฆษณา

Tuesday, December 23, 2008

Venture Capitalists ประเมินโอกาสในการลงทุนอย่างไร

เมื่อเอ่ยถึงการลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ เราต่างก็นึกถึงความเสี่ยงที่สูงที่สุดคือการที่บริษัทเกิดใหม่นั้นมักจะไปไม่รอดในช่วง 3-5 ปีแรกของการดำเนินงาน แต่ก็มีบริษัทไม่น้อยที่ผ่านช่วงยากลำบากมาได้ และกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่ติดอันดับโลก
บริษัทเกิดใหม่เหล่านี้ หากเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจ และอาจเตะตาเหล่ากองทุนที่ยอมเสี่ยงไปกับบริษัทด้วย (Venture Capital) บริษัทเล็กๆที่เกิดใหม่นั้นอาจกลายเป็นบริษัทที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงได้ สิ่งที่ผมอยากนำมาเล่ากันในครั้งนี้คือ เหล่าผู้จัดการกองทุนที่บริษัทกองทุนร่วมเสี่ยง (Venture Capitalists) มีหลักการและเหตุผลอย่างไรในการเลือกที่จะทุ่มเงินลงทุนไปในบริษัทที่เกิดใหม่ และมีความเสี่ยงที่สูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การผลิต การตลาด และเรื่องบุคลากร ผมเชื่อว่าหลักการเดียวกันนี้สามารถนำมาใช้ได้กลับบริษัทที่มีอยู่แล้วในบ้านเราได้เช่นกัน
จากการสัมภาษณ์ผู้จัดการกองทุน Venture Capital 4 คนโดย Harvard Business School ด้วยคำถามเดียวกัน สาม สี่ข้อ เรามาดูกันว่า ผู้จัดการกองทุนแต่ละกองจะมีคำตอบอย่างไรกับคำถามเหล่านั้น
คนแรกคือ Russell Siegelman: Partner, Kleiner Perkins Caufield & Byers ตอบคำถามข้อแรก ที่ถามว่า “คุณประเมินโอกาสในการลงทุนอย่างไร?” Siegelmam ตอบว่า สิ่งที่เขาพิจารณานั้นมีหลายประเด็น และประเด็นสำคัญประการแรกคือ บริษัทนั้นจะต้องมีโอกาสทางธุรกิจในตลาดที่ใหญ่ และโตเร็ว ประการต่อมาบริษัทจะต้องมีความสามารถในการแข่งขันที่คงทน เช่นมีเครือข่ายทางธุรกิจที่ใหญ่ เช่น e-Bay หรือไม่ก็สามารถล็อคลูกค้าให้อยู่กับบริษัทได้ เช่น Microsoft หรือเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้า บริการที่เข้ามาแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีใครแก้ได้ และจะต้องเป็นปัญหาที่แก้ยาก ปัญหานั้นมักจะเป็นปัญหาพื้นๆที่ยังไม่ถูกแก้ไข เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีสิทธิบัตรมากนักเพราะผู้คนมักจะต่อต้าน ประการที่สาม เขาจะเลือกลงทุนในบริษัทที่มีทีมงานที่ผู้ก่อตั้งเป็นผู้ร่วมในทีมงาน และเป็นทีมงานที่เอาจริงเอาจัง เขาไม่ชอบลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ที่มีผู้บริหารจากภายนอก เพราะผู้ก่อตั้ง(เจ้าของ)กับมืออาชีพมักมีเป้าหมายในการบริหารธุรกิจไม่เหมือนกัน คือผู้ก่อตั้งจะมีเป้าหมายในการมองหาโอกาสในการสร้างให้บริษัทเติบโตแข่งแกร่ง เขาจึงยอมที่จะเสี่ยงกับผู้ก่อตั้งเสมอ
คำถามต่อไปคือ “คุณประเมินรูปแบบธุรกิจอย่างไร” เขาตอบว่า มีหลักใหญ่ๆอยู่สองประการ คือ หนึ่งคือสินค้าหรือตลาดนั้นๆเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่าย เช่นการปรับปรุงสินค้าหรือบริการเดิมให้ดีขึ้น และแน่นอนว่าเขาจะลงทุนในบริษัทที่มีรูปแบบธุรกิจ(Business Model) ที่เข้าใจได้จริงๆ ต่อมาหากเป็นสินค้าหรือตลาดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรืออาจจะเรียกได้ว่ารูปแบบธุรกิจไม่มีความชัดเจน เขาจะดูว่าธุรกิจนั้นๆมีตลาดที่ใหญ่พอไหม และมีอัตราการเติบโตของธุรกิจที่สูงเพียงพอที่จะเสี่ยงไหม สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อมาคือเรื่องของช่วงเวลาในการลงทุน ในบางครั้งธุรกิจมีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ยังไม่ใช่เวลาที่จะทำให้ธุรกิจนั้นเกิดได้ เขาจะยังไม่ร่วมลงทุน
คำถามที่ว่า “คุณตรวจสอบอะไรของบริษัทบ้างก่อนการตัดสินใจลงทุน” เขาตอบว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องตรวจสอบ คือการตรวจสอบทางเทคนิค ต้องดูให้แน่ใจว่าสินค้าและบริการนั้นๆเป็นได้จริงในเชิงเทคนิค และเชิงพานิช สิ่งที่ต้องตรวจสอบต่อไปคือ ลูกค้า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากบริษัทกำหนดลูกค้าเป้าหมายไม่ถูกต้อง บริษัทจะไม่มีหนทางในการนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตรงความต้องการของลูกค้า หรือลูกค้าไม่มีความต้องการที่จะจ่าย (เห็นว่าไม่คุ้มที่จะจ่าย) ค่าสินค้าหรือบริการ ส่วนนี้เขาจะพิจารณาอย่างละเอียดและเคร่งครัดมาก
คำถามที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางการเงิน “คุณมีขบวนการวิเคราะห์ทางการเงินอะไรบ้าง” คำตอบในส่วนนี้น่าสนใจมาก เขาตอบว่า สิ่งที่เขาทำไม่ใช่การประมาณการยอดขาย ต้นทุนหรือกำไรเป็นอย่างแรก สิ่งที่เขาทำคือ วิเคราะห์ห่วงโซ่แห่งมูลค่า (Value Chain Analysis) หรืออธิบายง่ายๆคือขบวนการทำงานของบริษัทตั้งแต่สั่งซื้อวัตถุดิบจนกระทั่งการบริการหลังการขาย เขาจะวิเคราะห์ขบวนการทำงานที่มีความสัมพันธ์กับต้นทุนและยอดขายที่จะเกิดในแต่ละขั้นตอนอย่างรอบครอบ เพื่อให้เห็นว่าบริษัทจะสามารถทำได้จริงตามที่ประมาณการเอาไว้หรือไม่
จะเห็นว่า แม้Venture capital ที่มักจะเป็นแหล่งเงินให้กับบริษัทที่เกิดใหม่และมีความเสี่ยงที่สูงนั้นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆคือ คุณภาพของกิจการ ความสามารถในการแข่งขันระยะยาว มีตลาดและลูกค้าที่พร้อมจะจ่าย หลักการเหล่านี้เราเองก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการลงทุนของเราได้เช่นกัน เพียงแต่เราให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงคุณภาพเป็นหลักเท่านั้นเอง
ครั้งต่อไปผมจะนำความเห็นของ Venture Capitalist คนอื่นมานำเสนอต่อครับ

โดย มนตรี นิพิฐวิทยา
จาก thaivi.com

หุ้นถูกเรื้อรัง

มีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์กลุ่มหนึ่งที่ผมเองเคยซื้อ เคยขายไปแล้ว หรือบางทีก็ยังถืออยู่หรือกำลังคิดที่จะซื้อ และส่วนใหญ่ก็ยังจับตาดูอยู่ แต่กลับเป็นหุ้นที่ผมยังไม่เข้าใจดีพอและไม่รู้ว่าอนาคตมันจะวิ่งขึ้นไปไหม สิ่งเดียวที่ผมพอจะบอกได้ก็คือ ราคามันไม่ค่อยตกหรือตกก็ไม่มาก สิ่งที่ยังไม่รู้ก็คือ ทำไมราคามันจึงไม่ไปไหนสักทีทั้ง ๆ ที่มันเป็นหุ้นที่แสนจะถูกและเข้าข่ายเป็นหุ้นคุณค่าไม่ว่าจะวัดโดยตัวเลขอะไร หุ้นกลุ่มที่ว่านี้คือหุ้นที่ผมอยากจะเรียกว่า “หุ้นถูกเรื้อรัง”
หุ้นถูกเรื้อรังนั้นมีคุณสมบัติร่วมกันบางอย่างดังต่อไปนี้คือ ข้อแรก เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจ หลายบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” อีกหลายบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่โตช้าหรืออิ่มตัว เกือบทั้งหมดนั้นเป็นบริษัทที่เป็นโรงงานผู้ผลิตหรือขายสินค้าให้กับโรงงานอื่นหรือขายสินค้าที่คนซื้อไม่สนใจในตัวยี่ห้อสินค้า ไม่มีบริษัทไหนที่เป็นบริษัทที่ขายบริการ
ข้อสอง หุ้นถูกเรื้อรังนั้นมีผลการดำเนินงานที่ดีเข้าข่ายเป็นหุ้นคุณค่าทุกด้าน เริ่มตั้งแต่ตัวเลขยอดขายและกำไรที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอต่อเนื่องมาหลายปี ยอดขายและกำไรของหลายบริษัทอาจจะไม่ค่อยเติบโตมากนัก แต่บางบริษัทก็เติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอใช้ เรียกว่าผลการดำเนินงานนั้นอยู่ในข่ายที่สามารถ “คาดการณ์ได้” เช่นเดียวกัน บริษัทเหล่านี้มักจะมีปันผลสม่ำเสมอและผลตอบแทนจากปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือประมาณ 5- 6 % ต่อปี และถ้าใครที่ลงทุนแล้วหวังปันผลเป็นหลักแล้วละก็ หุ้นเหล่านี้ก็เป็นหุ้นที่น่าสนใจ จะเรียกว่าเป็นหุ้นห่านทองคำก็น่าจะได้
ข้อสาม ฐานะทางการเงินของบริษัทในกลุ่มนี้ค่อนข้างมั่นคง หนี้สินที่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินมักจะมีน้อยหรือไม่มีเลย ยิ่งไปกว่านั้น หลายบริษัทมีเงินสดมหาศาลจนเกินความจำเป็น นอกจากเงินแล้ว บริษัทเหล่านี้มักจะมีทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีค่าเพิ่มขึ้นจากมูลค่าทางบัญชีด้วย ดังนั้น ความ “ถูก” ของหุ้นจึงแทบไม่มีข้อสงสัยเลยถ้ามองจากทรัพย์สิน
ข้อสี่ ถ้าวัดความ “ถูก” ของหุ้นจากค่า PE หรือดูจากราคาหุ้นเทียบกับกำไรต่อหุ้นก็จะพบอีกว่า หุ้นเหล่านี้มีค่า PE ที่ค่อนข้างต่ำ นั่นคือ เกือบทั้งหมดมีค่า PE ต่ำกว่า 10 เท่า หลายบริษัทมีค่า PE เพียง 7-8 เท่าหรือต่ำกว่าก็มี ดังนั้น สำหรับ Value Investor ที่เพิ่งเข้ามาศึกษาหุ้นเหล่านี้ เขาก็มักจะสรุปทันทีว่านี่คือหุ้นคุณค่าที่น่าสนใจมาก
ข้อห้า ในด้านของการบริหารงานของกิจการ สิ่งที่มักจะพบก็คือ บริษัทน่าจะมีการบริหารที่ดี หลายบริษัทอาจได้รับรางวัลดีเด่นด้านการผลิต หลายบริษัทก็มีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจที่ใช้ได้ มองในด้านของการคุมโรงงานหรือบริหารการขาย หรือการจัดการโดยทั่วไปแล้ว บริษัทเหล่านี้มักอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ดังนั้น มองโดยผิวเผินแล้ว Value Investor หลายคนก็มักจะสบายใจ และสรุปว่านี่คือหุ้นคุณค่าที่น่าลงทุน
แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกสักเล็กน้อย หุ้นถูกเรื้อรังนั้นมักจะมีจุดอ่อนที่เหมือนกันเกือบทุกบริษัทซึ่งผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ บริษัทเหล่านี้มักมีนโยบายในการจัดสรรเงินที่บริษัททำมาหาได้อย่างที่ผมคิดว่าไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือนักลงทุนทั่วไป แต่อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้บริหารและ/หรือหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็น “เจ้าของบริษัท” โดยที่การจัดสรรเงินสดและผลกำไรของบริษัทมักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
ข้อแรกที่เหมือนกันเกือบทุกบริษัทก็คือ เมื่อมีกำไรบริษัทมักจะจ่ายปันผลในอัตราที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่มีสถานะใกล้เคียงกัน หลายบริษัทจ่ายปันผลเพียง 25-30 % ของกำไรทั้ง ๆ ที่บริษัทไม่ได้มีหนี้สินที่เป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินเลย นี่เป็นข้อแรก
ข้อสอง บริษัทเหล่านี้ เนื่องจากมีกำไรต่อเนื่องและจ่ายปันผลน้อย หลายบริษัทจึงมีเงินสดเหลือมาก แต่แทนที่จะจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น กลับนำไปฝากแบงค์หรือซื้อตราสารการเงินที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ โดยเหตุผลอาจจะเป็นว่าเพื่อสำรองไว้ใช้ขยายงานหรือรองรับกับภาวะ “วิกฤติ” ในอนาคต บางบริษัทก็นำเงินสดที่มีไปขยายงานโดยเฉพาะในกิจการที่อยู่ในต่างประเทศหรือบริษัท “ในเครือ” มากมายไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยนั้น หวังที่จะเห็นปันผลเพิ่มยากเย็นมากและถ้าเพิ่มก็เพียงเล็กน้อย ในประเด็นนี้ก็อาจจะมีข้อถกเถียงว่าบริษัทต้องการลงทุนเพิ่มเพื่อที่จะได้ทำกำไรมากขึ้นซึ่งก็จะทำให้ผู้ถือหุ้นได้ปันผลมากขึ้นในอนาคต แต่สำหรับผมและ Value Investor อีกหลายคนนั้น อนาคตอาจจะไม่แน่นอน และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าการลงทุนเกิดความเสียหายและอนาคตเราอาจจะไม่ได้อะไรเลย เหมือนกับคำพูดที่ว่า “นกหนึ่งตัวในมือนั้น ดีกว่านกสองตัวในพุ่มไม้”
ข้อสาม บริษัทเหล่านี้มักมีผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของที่ไม่ค่อยได้แสดงตัวต่อสาธารณชน คนที่ออกมาให้ข่าวและแถลงรายงานตอบคำถามต่าง ๆ มักเป็นผู้จัดการที่เป็นลูกจ้างที่ไม่ได้ถือหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ มองอีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นว่า เจ้าของตัวจริงนั้นมีกิจการอื่น ๆ ที่มีค่าและต้องการเวลามากกว่ากิจการของบริษัทที่พูดถึง และนี่อาจจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เจ้าของตัวจริงไม่สนใจที่จะจัดสรรเงินของบริษัทให้กับผู้ถือหุ้นผ่านการจ่ายปันผล แต่อาจจะอยากเก็บเงินไว้ในบริษัทแล้วใช้ประโยชน์จากบริษัทแทนเช่น เอาบริษัทไว้ใช้ในการลงทุนกิจการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับกิจการของเครือ เอาบริษัทไว้ใช้เป็นที่ตั้งให้ผู้มีอุปการคุณเป็นกรรมการหรือเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นลูกจ้าง และอื่น ๆ อีกร้อยแปด
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงข้อสงสัยหรือข้อสังเกตของผม แต่ถ้าถามว่าตกลงเราควรซื้อหุ้นถูกเรื้อรังเพื่อลงทุนหรือไม่? คำตอบของผมก็คือ หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่ “ถูกเรื้อรัง” นั่นแปลว่า โอกาสที่เราจะซื้อตอนหุ้นถูกและขายตอนหุ้นแพงมีน้อยมาก สิ่งที่พอจะหวังได้บ้างก็คือ กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นและราคาหุ้นก็ปรับตัวตามกันไป ซึ่งลักษณะนี้การปรับตัวแบบหวือหวาเร็วและสูงมากก็จะมีน้อย แต่ถ้าซื้อเพื่อกินปันผลก็คงจะพอได้ สิ่งที่สำคัญก็คือ อย่าซื้อหุ้นเหล่านี้เมื่อราคาหุ้นเพิ่งมีการปรับตัวขึ้นไปแรง เพราะหลายครั้งการปรับตัวขึ้นไปนั้นเกิดจากแรงซื้อของใครก็ตามที่เข้ามา และเนื่องจากหุ้นมีสภาพคล่องต่ำราคาจึงขึ้นไปแรง แต่เมื่อแรงซื้อหมด ราคาก็มักจะค่อย ๆ ปรับตัวกลับลงมา ดังนั้น ถ้าจะซื้อหุ้นถูกเรื้อรัง เราควรจะซื้อตอนที่หุ้นอยู่นิ่ง ๆ ในราคาถูกมาก อย่างไรก็ตาม ในการถือหุ้นถูกเรื้อรังนั้น เราอาจจะต้องรับความจริงว่าหุ้นอาจจะไม่ไปไหนนานมาก ซึ่งทำให้มัน “ไม่คุ้ม” กับเวลาที่เสียไปที่เราอาจจะไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาก และนี่ก็คือสิ่งที่บัฟเฟตต์บอกว่า เวลาเป็นเพื่อนที่ดีของกิจการที่ดีเยี่ยมแต่เป็นศัตรูของกิจการพื้น ๆ แม้ว่ามันจะมีราคาถูก

โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
จาก thaivi.com

จินตนาการกับการลงทุน

การที่จะเป็น Value Investor ที่มีความสามารถสูงได้นั้น สิ่งหนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ก็คือ การ “จินตนาการ” ฟังดูอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของความเพ้อฝันและเป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้ว การจินตนาการนั้นสามารถที่จะฝึกฝนกันได้ ประเด็นสำคัญก็คือ เราต้องรู้เรื่องอื่น ๆ มากพอที่จะทำให้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเรื่องของบริษัทจดทะเบียนและหุ้นที่เราสนใจได้ เมื่อเกิดจินตนาการ เราก็สามารถจะมองต่อไปได้ว่าบริษัทหรือหุ้นที่เราสนใจนั้น ในที่สุดน่าจะเป็นอย่างไร แน่นอน จินตนาการกับของจริงคงจะไม่เหมือนกัน แต่มันก็ให้ภาพที่จะทำให้เราเห็นทิศทางเดินของหุ้น ผมพูดแบบนี้อย่านึกว่าเป็นเรื่องประหลาด ลองนึกทบทวนดูก็จะพบว่าแม้แต่ในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เราก็พบว่า การใช้จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ค้นพบทฤษฎีหรือสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญต่าง ๆ ขึ้นในโลก พูดก็พูด ถ้าคนไม่จินตนาการว่าจะสามารถบินได้อย่างนก เราจะมีการประดิษฐ์เครื่องบินหรือครับ?
ในเรื่องของหุ้นนั้น เนื่องจากว่าผมเน้นการลงทุนในตัวธุรกิจ ดังนั้น ความสำเร็จของธุรกิจโดยเฉพาะในระยะยาวเป็นสิ่งที่ผมจะมองหา บริษัทที่จะประสบความสำเร็จนั้นจะต้องต่อสู้และแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ทั้งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันและที่อยู่ในธุรกิจอื่นแต่สินค้าอาจจะมาทดแทนสินค้าของบริษัทได้ นอกจากนั้น ธุรกิจยังต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายและสังคมและอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแพ้หรือชนะในทางธุรกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ มากมายและที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “กลยุทธ์ในการต่อสู้” กับคู่แข่ง ผู้ชนะคือผู้ที่จะรุ่งเรืองต่อไป ผู้แพ้จะเสียหายย่อยยับ การแข่งขันทางธุรกิจนั้นไม่มีคำว่าปราณีหรือเปิดให้คู่แข่งมีโอกาสฟื้นตัวจากความผิดพลาด ลักษณะการแข่งขันของธุรกิจนั้น ผมรู้สึกว่ามันเหมือนกับการทำสงคราม ดังนั้น สำหรับผมแล้ว บ่อยครั้ง เวลาผมคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัทและตัวหุ้นที่ผมสนใจ ผมมักจะจินตนาการถึงเรื่องของสงคราม และสงครามที่ผมมักคิดถึงก็คือ สงครามโลกครั้งที่สอง เพราะมันคือสงครามที่ “ครบเครื่อง” ที่สุด
บางคนชอบจินตนาการเรื่องของการแข่งขันทางธุรกิจโดยเปรียบเทียบกับสงครามสามก๊กเช่นเดียวกัน บางคนชอบใช้กลยุทธ์การทำสงครามของซุนหวู่มาจินตนาการว่าบริษัทไหนจะชนะในสงครามการค้า หรือบางคนอาจจะไม่ใช้เรื่องของสงครามเลยแต่อาจจะจินตนาการไปถึงเรื่องกีฬาอย่างเช่นฟุตบอลหรือเทนนิสหรืออะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดนั้นผมคิดว่าไม่เป็นปัญหาถ้าคนที่ทำนั้นได้ศึกษาประวัติศาสตร์และกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่มีการใช้และรู้ว่าฝ่ายไหนแพ้หรือชนะเพราะอะไรและธุรกิจที่เราดูอยู่นั้นน่าจะประยุกต์เข้ากับเหตุการณ์เหล่านั้นได้อย่างใกล้เคียงแค่ไหน
นอกจากสงครามแล้ว ผมยังชอบจินตนาการว่าบริษัทจะเป็นอย่างไรในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าหรือแม้แต่อีกหลายสิบปีข้างหน้า การจินตนาการนั้น จะต้องไม่เพ้อฝัน เราจะต้องมีเหตุผลประกอบเช่น การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของคนที่กำลังเกิดขึ้นและเราคิดว่าจะดำเนินต่อไป ความเข้มแข็งของบริษัท ความสามารถและศักยภาพของผู้บริหาร และอื่น ๆ อีกมาก ในการจินตนาการนั้น สิ่งที่ผมมักจะใช้ก็คือ ผมมักจะมองที่ “พื้นฐาน” จริง ๆ ของธุรกิจหรือพูดให้เท่ ๆ อาจจะเรียกว่ามองกันในระดับ Mission หรือภารกิจของบริษัทที่สนองตอบความต้องการของลูกค้าและสังคม เพราะในระยะยาวแล้ว ผลิตภัณฑ์อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่ภารกิจของบริษัทที่ยิ่งใหญ่นั้นมักไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้าเราเริ่มจากพื้นฐาน เราจะสามารถจินตนาการไปได้ไกลและจะเห็นภาพของบริษัทได้ว่ามันจะใหญ่หรือเล็กแค่ไหน ในหลาย ๆ ครั้ง ผมก็มักจะเปรียบเทียบบริษัทที่ผมมองอยู่ว่า มันจะมีโอกาสเป็นบริษัทที่คล้าย ๆ กับบริษัทที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกที่มีอยู่ในประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วหรือไม่
ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามีจินตนาการที่ดี ผมเองก็ตอบไม่ได้ชัด บางทีบางคนอาจจะมีจินตนาการได้ดีกว่าคนอื่นและเป็นความสามารถเฉพาะตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มากสำหรับผมก็คือ การที่เราเป็นคนที่มีความรู้กว้างและหลากหลายมาก ซึ่งความรู้เหล่านั้นต่างก็มักจะมาจากการอ่านหนังสือที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหนังสือที่ “ปฏิวัติ” ความคิดในเรื่องนั้น ๆ ตัวอย่างของหนังสือก็เช่น The Intelligent Investor ของ เบน เกรแฮม ที่เราพูดถึงเสมอ นั่นก็คือในเรื่องของการลงทุน แต่ในเรื่องอื่น ๆ เราก็ควรจะรู้อย่างเช่นในเรื่องของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของ ชาร์ล ดาร์วินส์ หรือเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากความรู้ต่าง ๆ แล้ว ผมคิดว่าประวัติศาสตร์เป็นความรู้ที่สำคัญมากในการที่จะทำให้เรามีจินตนาการที่ดี บางคนอาจจะไม่ค่อยแน่ใจเพราะคำว่าวิชาประวัติศาสตร์ที่เราเรียนในชั้นเรียนนั้นดูเหมือนจะไม่ค่อยมีอะไรที่จะนำมาใช้ในการจินตนาการได้ แต่ในความหมายของผม ประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมีคนบันทึกไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการเมืองการปกครองแต่รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของธุรกิจ เรื่องของสังคม และอื่น ๆ อีกมาก เรื่องราวเหล่านี้ เมื่ออ่านแล้ว สิ่งที่ผมมักทำก็คือ คิดไปถึงภาพอดีตของยุคสมัยนั้นว่ามันน่าจะเป็นอย่างไร นี่อาจจะเป็นวิธีการฝึกจินตนาการแบบหนึ่งของผม
เรื่องของจินตนาการนั้น ว่าที่จริงไม่มีกรอบ สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้นเป็นประเด็นเพียงน้อยนิดของสิ่งที่ผมพอจะนึกได้ วิธีหรือกระบวนการสร้างจินตนาการของแต่ละคนอาจจะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงซึ่งผมไม่มีอะไรจะเถียงเลย สิ่งที่ผมต้องการจะพูดมากที่สุดก็คือ ในการลงทุนนั้น การจินตนาการเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ สำหรับผมแล้ว หุ้นเกือบทุกตัวที่ซื้อ มักจะเกิดจากจินตนาการด้วย

โดย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
จาก thaivi.com

ทำไมหุ้นไทยไม่ไปไหน

เท่าที่อ่านบทวิเคาระห์เกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยมาหลายปี นักวิเคาระห์ดัชนีตลาดหุ้นไทยมักออกมาฟันธงว่าหุ้นไทยจะไป 1,000 จุดเป็นประจำทุกปี เป็นเวลาอย่างน้อย 4-5 ปีติดต่อกัน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา ดัชีหุ้นไทยไม่เคยขึ้นไปสูงเกิน 1,000 จุดสักครั้งเดียว จุดที่ใกล้เคียงที่สุดคือในช่วงปลายปี 2547 ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นขึ้นไปถึง 920 จุดก่อนที่เกิดปัญหาซับไพร์มต้นปีจนดัชนีร่วงลงไปถึง 720 จุดก่อนที่ปรับตัวกลับมาที่ 870 จุดในเดือนพฤษภาคม และลงมาเหลือ 800 จุดในปัจจุบันภายในเวลาสองสามอาทิตย์
เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศอาเซียนที่เกิดวิกฤตค่าเงินด้วยกันแล้ว ดัชนีหุ้นประเทศอื่นๆในแถบนี้ต่างปรับตัวเกิน1,000 จุดไปนานแล้ว ไม่นับตลาดหุ้นจีนที่กำลังร้อนแรง หรือตลาดหุ้นเวียดนามที่เพิ่งเปิดดำเนินการต่างมีดัชนีแซงหน้าตลาดหุ้นไทยไปกันแทบทุกประเทศ ตัวอย่างเช่น ดัชนีตลาดหุ้นมาเลเซียในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2541 ดัชนีลดลงไปเหลือ 261 จุด ปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 1,253 จุด ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซียปีดที่ 2,362 จุด ดัชนีตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ปัจจุบันอยู่ที่ 3,028 จุด ตลาดหุ้นเหล่านี้ต่างประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ด้วยกันทั้งสิ้นและดัชนีลดลงไม่ต่างจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยสักเท่าไหร่นัก แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคนี้ต่างให้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดหุ้นไทยมาก รวมทั้งปรับตัวเกิน 1,000 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังขึ้นๆลงๆอยู่แถวๆ 700-900 จุดไม่ไปไหนเสียทีมาหลายปีแล้ว
เหตุใดตลาดหุ้นไทยถึงไม่สมารถปรับตัวเกิน 1,000 จุดเหมือนประเทศอื่นๆได้เสียที น่าจะมีสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
ข้อแรก สาหตุจากความไม่มั่นคงทางการเมือง ประเทศไทยผ่านการรัฐประหารครั้งล่าสุด เมื่อเดือนกันยายน 2549 นับเป็นเวลานานกว่าสิบปีที่เหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย การมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งผู้บริหารประเทศมาจากการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความเชื่อถือมากนัก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยมีรัฐบาลมาจากเลือกตั้งเป็นเวลานาน อยู่ๆทหารออกมาฉีกรัฐธรรมมูญแล้วตั้งตนเองปกครองประเทศ สำหรับประเทศในเอเซียนั้นคงหาได้ยาก ยกเว้นหากเกิดในประเทศด้อยพัฒนาอย่างในประเทศในอาฟริกาอาจไม่น่าแปลกใจนัก นอกเหนือจากนั้นการที่มีผู้คนออกมาประท้วงรัฐบาลบ่อยๆจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ ดูเหมือนเหล่านักประท้วงหล่านั้นคิดว่าวิถีทางนี้เป็นสิ่งที่น่าปฏิบัติและน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงออกมาประท้วงกันอีกรอบเพื่อไล่รัฐบาลที่ตนเองไม่ชอบออกไป แต่ที่แปลกคือประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา มีคนไม่ชอบประธานาธิบดีบุชอยู่มากกว่าครึ่งประเทศ แต่ก็ไม่มีใครใช้วิธีการประท้วงและปฏิวัติรัฐประหารเพื่อไล่ประธานาธิบดีบุชแต่อย่างใด ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสามารถทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
เหตุผลอีกข้อหนึ่ง คือ ตลาดหุ้นไทยไม่มีหุ้นใหญ่เข้าตลาดมาเป็นเวลานานหลายปี ตั้งแต่การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตถูกศาลระงับไป ตลาดหุ้นไทยก็ไม่มีหุ้นจากบริษัทใหญ่ๆหรือรัฐวิสาหกิจขนาดแสนล้านเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นอีกเลย รวมทั้งการที่บริษัทเบียร์แห่งหนึ่งถูกประท้วงจนต้องไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน ทำให้มาร์เกตแคปของตลาดหุ้นไทยต้องอาศัยหุ้นบริษัทเดิมๆที่จดทะเบียนอยู่ก่อนแล้วเป็นตัวผลักดันดัชนี ซึ่งถ้าหุ้นบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถปรับตัวเพิ่มได้มาก ดัชนีหุ้นไทยก็ไม่สามารถไปไหนไกลได้
ดังนั้นการผลักดันให้ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 จุดนั้นทำได้โดยแปรรูปรัฐวิสากิจขนาดใหญ่เข้าตลาดหุ้นอย่างโปร่งใส และเลิกวงจรอุบาทว์ทางการเมืองที่ประเทศไทยเผชิญอยู่เป็นเวลากว่า 50 ปี โดยการเลิกประท้วง เลิกปฏิวัติรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลอยู่จนครบเทอม จากนั้นให้ประเทศเข้าสู่วงจรของการเลือกตั้งตามวิถีทางของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที

โดย วิบูลย์ พึงประเสริฐ
จาก thaivi.com