โฆษณา

Tuesday, August 10, 2010

ประวัติการผลิตทองคำ

ประวัติการผลิตทองคำ
ในช่วง 6000 ปีที่ผ่านมา คาดว่ามีการขุดทองคำขึ้นมาใช้แล้วมากกว่า 125,000 ตัน โดยประวัติการขุดค้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุด คือ ยุคก่อนการตื่นทอง และยุคหลังการตื่นทอง คาดว่ากว่า 90% ของทองคำที่เคยถูกขึ้นนั้นถูกขุดขึ้นมาหลังปี ค.ศ. 1848 หรือตั้งแต่ยุคตื่นทองในแคลิฟอร์เนีย

ยุคแรก (ก่อนปี ค.ศ. 1848)
ในช่วง 2000 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์ขุดทองคำได้ไม่ถึงปีละ 1 ตัน จากบริเวณที่เป็นประเทศอียิปต์ ซูดาน และซาอุดิอาราเบียในปัจจุบัน
ในยุคอาณาจักรโรมันรุ่งเรือง คาดว่ามีการขุดทองคำได้ 5-10 ตันจาก สเปน ปอร์ตุเกส และแอฟริกา
ช่วงกลางศตวรรษที่ 15 มีการผลิตทองคำ 5-8 ตันต่อปีจากแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่ง คือบริเวณประเทศกานาในปัจจุบัน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 มีการผลิตทองคำรวม 10-12 ตัน จากแอฟริกาตะวันตกและ อเมริกาใต้
ในปี ค.ศ. 1847 หนึ่งปีก่อนเกิดการตื่นทองในแคลิฟอร์เนีย รัสเซียผลิตทองคำได้ 30-35 ตัน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ผลิตได้ทั้งโลกที่มีประมาณ 75 ตัน

ยุคที่สอง (หลังปี ค.ศ. 1848)
หลังปี ค.ศ. 1848 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญหลังการค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนียและในออสเตรเลีย โดยในแต่ละแห่งสามารถขุดได้ทองคำในแต่ลปีเกือบ 100 ตัน
หลังจากได้ได้มีการค้นพบแหล่งทองคำในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผลผลิตสูงที่สุดมาต่อเนื่องยาวนานนับจากช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน
ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการขุดทองคำได้เฉลี่ยปีละ 400 ตัน
ในช่วงปี 1990 โลกมีการขุดค้นได้ทองคำเฉลี่ย 1744 ตันต่อปี ทั้งนี้เพราะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยทำให้การผลิตเดิมที่ไม่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้ขึ้น แต่ราคาทองคำที่ตกต่ำลงทำให้ผลผลิตทองคำไม่เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด

บทความจาก www.goldtraders.or.th

แหล่งแร่ทองคำ

แหล่งแร่ทองคำ
โดยทั่วไปแล้วมักพบแร่ทองคำจะอยู่ในหินอัคนีชนิดเบสมากกว่าชนิดกรด แต่ส่วนใหญ่จะพบว่าทองอยู่ในหินชั้นและในกระบวนการของหินชั้น พบว่าหินทรายจะมีปริมาณทองมากกว่าหินชนิดอื่น ๆ
ส่วนในแหล่งแร่จะพบว่า แร่ทองจะอยู่กับแร่เงิน ทองแดง และโดบอลต์ ปริมาณที่พบทองในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ทอง 1 กรัมต่อหินหรือดิน 300 เมตริกตัน ส่วนในน้ำทะเลจะมีปริมาณทอง 1 กรัมต่อน้ำทะเล 20,000-90,000 ตัน ซึ่งการสกัดเอาแร่ทองคำออกมาแล้ว ไม่คุ้มต่อการลงทุน กล่าวคือจะมีต้นทุนสูงมาก
การเกิดของแร่ทองคำ
การเกิดของแร่ทองคำนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบตามลักษณ์ที่พบในธรรมชาติ ดังนี้
1.แบบปฐมภูมิ คือแหล่งแร่ที่เกิดจากกระบวนการทองธรณีวิทยา มีการผสมทางธรรมชาติจากน้ำแร่ร้อน ผสมผสานกับสารละลายพวกซิลิก้า ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินต่าง ๆ เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร มีการพบการฝังตัวของแร่ทองคำในหิน หรือสายแร่ที่แทรกอยู่ในหิน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีส่วนน้อยที่จะมีขนาดโตพอที่จะเห็นได้ชัดเจน แหล่งแร่คำแบบนี้จะมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์ ก็ต่อเมื่อมีทองคำมากกว่า 3 กรัมในเนื้อหินหนัก 1 ตัน หรือมีทองคำหนัก 1 บาท(15.2 กรัม) ในเนื้อหินหนักประมาณ 5 ตัน (ประมาณ 2 ลูกบาศก์เมตร)

2.แบบปฐมทุติยภูมิ หรือแหล่งลานแร่ คือการที่หินที่มีแร่ทองคำแบบปฐมภูมิได้มีการสึกกร่อนผุพัง แล้วสะสมตัวในที่เดิมหรือถูกน้ำชะล้างพาไปสะสมตัวในที่ใหม่ ในบริเวณต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น เชิงเขา ลำห้วย หรือ ในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำ

แหล่งแร่ทองคำที่พบในต่างประเทศ
เมื่อ พ.ศ. 2396 สหรัฐอเมริกาได้มีการค้นพบทองครั้งใหญ่ ผลิตทองได้มากมายจนทำให้เป็นผู้นำการผลิตทอง ถึง 50 ปี ส่วนในออสเตรเลียก็เช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา คือมีการค้นพบทองมากมาย จึงทำให้ตลาดของสหรัฐอเมริกาดูตกต่ำลง แต่ช่วงเวลาไม่นานจำนวนทองที่ออสเตรเลียก็ลดลงอย่างรวดเร็วในขณะที่การค้นพบทองครั้งใหญ่ ก็เกิดขึ้นอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกาทำให้สหรัฐอเมริกาในตลาดโลกมีความกระเตื้องขึ้นหลังจากที่ตกต่ำไป หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2439 มีการตื่นทองครั้งใหญ่ที่แคนาดาซึ่งผลิตทองได้เกินกว่า 15 ล้านเอานซ์ต่อปี และในปี พ.ศ. 2458 สุงสุดเกือบ 23 ล้านเอานซ์ต่อปี นับตั้งปี พ.ศ. 2448 ประเทศแอฟริกา เป็นอันดับหนึ่งในการผลิตทอง รองลงมาคือประเทศ สหรัฐอเมริกา ประมาณ 26 ปี ต่อมา ผลผลิตทองของสหรัฐอเมริกาจึงตกเป็นรองประเทศรัสเซียและแคนาดา
ได้มีการประเมินปริมาณของการขุดทองทั่วโลก นับจากเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ ได้ทั้งหมด 3 พันล้านเอานซ์ เป็นข้อมูลที่ประเมินไว้ก่อนปี พ.ศ. 2515

แหล่งแร่ทองคำในประเทศไทย
เมื่อประมาณ 60-70 ปีมาแล้ว แหล่งแร่ทองคำที่สำคัญที่สุด คือแหล่งแร่ที่ป่าร้อนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ทำการหาทองโดยวิธีการร่อน เป็นเวลาหลายปีจนปริมาณลดลง แต่ก็ยังมีเหลือพบบ้าง
กรมทรัพยากรธรณี สำรวจพบแร่ทองคำกระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด ยกเว้นพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่สูงมีอยู่ 2 แนวคือ แนวแรก พาดผ่านจังหวัดเลย หนองคาย เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี และจังหวัดระยอง ส่วนแนวที่ 2 พาดผ่านจังหวัดเชียงราย แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย และจังหวัดตาก ส่วนพื้นที่อื่นๆ พบทองคำกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น บริเวณบ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งโต๊ะโมะ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
บริเวณที่สำรวจพบว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่ทองคำสูง ในปัจจุบันมีด้วยกัน 9 บริเวณ ดังนี้
1.บริเวณพื้นที่ในเขตตอนเหนือของจังหวัดอุดรธานี อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอเมือง อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม จังหวัดเลย
2.บริเวณพื้นที่อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอสระแก้ว และอำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี
3.บริเวณพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอวังชิ้น อำเภอลอง จังหวัดแพร่
4.บริเวณพื้นที่อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอเมือง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอม่จัน อำเภอแม่สาย และอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
5.บริเวณพื้นที่อำเภอสนามชัยเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ลงไปถึงอำเภอบ้าบึง กิ่งอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี จรดชายฝั่งทะเลที่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
6.บริเวณพื้นที่อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน กิ่งอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอประทิว และอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
7.บริเวณกิ่งอำเภอสุคิริน อำเภอระแงะ และอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และบริเวณทางตอนใต้ของจังหวัดยะลา
8.บริเวณพื้นที่อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอไทรโยค ถึงอำเภอสวนผึ้งและอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
9.บริเวณพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอโคกสำโรง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์

บทความจาก www.goldtraders.or.th