โฆษณา

Sunday, February 17, 2008

วิธีเลือกลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางการเงิน

น.ส. สุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต กล่าวผ่านรายการ Smart Money ว่า ในภาวะที่ราคาหุ้นผันผวน ผู้ลงทุนควรลงทุนด้วยความปลอดภัย ซึ่งต้องดูจากความต้องการของแต่ละคนว่ายอมรับความเสี่ยง และพอใจระดับผลตอบแทนในระดับใด ซึ่งการลงทุนที่น่าสนใจมีหลากหลายวิธี ดังนี้- การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแห่งซึ่งมีความแตกต่างกัน ผู้ลงทุนควรฝากเงินอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3%
- กองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีความน่าสนใจในภาวะที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากประสบปัญหาเงินบาทแข็งค่า และปัญหา Subprime ผู้ลงทุนควรลงทุนระยะยาวเกินกว่า 1 ปี และในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้คาดว่าจะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์กว่า 5 หมื่นล้านบาท และบริษัทเอกชนก็จะทยอยออกตราสารหนี้ในรูปแบบหุ้นกู้ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแห่งว่าจะออกหุ้นกู้อายุเท่าใด อาจเป็นได้ตั้งแต่ 2 - 7 ปี ซึ่งผู้ลงทุนควรดูจังหวะของเงินลงทุน และเปรียบเทียบผลตอบแทนก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน
- กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เหมาะสำหรับถือลงทุนในระยะยาว ให้ผลตอบแทน 5-7% ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 กองทุน ซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างมาก เนื่องจากราคาที่ดินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ก็อาจทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ได้
- Structure Note เป็นการรวมตราสารอนุพันธ์ และตราสารหนี้เข้าด้วยกัน ถือเป็นความท้าทายใหม่ ในการออกแบบการลงทุนในอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ต่าง ๆ เช่น SET 50 หรือ ทองคำ โดยหากเงื่อนไขการลงทุนเป็นไปตามที่กำหนด เช่น ดัชนี SET 50 แกว่งตัวในระดับที่กำหนดไว้ ก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มเติม
- ทองคำ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการลงทุนในทองคำโดยตรง หรือผ่านกองทุน โดยในขณะนี้มีการเก็งกำไรจากมูลค่าทองคำที่ผันผวนตามราคาน้ำมัน และราคาของโลหะในตลาดโลกก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน สุวภาบอกด้วยว่า ไม่ว่าผู้ลงทุนจะเลือกลงทุนแบบใด ก็ควรที่จะพิจารณา ให้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุน มองว่าเป็นเรื่องของความผันผวนมากกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ย 7% มีความผันผวนน้อย อัตราดอกเบี้ย 20% มีความผันผวนมาก แต่ในบางครั้งกรณีที่มีความเสี่ยงมาก ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนต่ำก็เป็นได้ ดังนั้น การตัดสินใจลงทุนจึงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ และระดับการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนเป็นหลัก


บทความจาก Money Channel

ทางเลือกลงทุนสำหรับคนชอบเสี่ยง

สุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต ได้กล่าวถึงทางเลือกการลงทุนผ่านรายการ Smart Money ว่า ปัจจุบันตลาดทุนไทยมีตราสารที่สามารถลงทุนได้หลากหลายประเภท เช่น หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) Exchange Traded Fund (ETF) ฟิวเจอร์ส และออปชัน เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าการลงทุนในสินค้าเหล่านี้จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของดัชนี โดยเฉพาะหุ้น แต่การลงทุนในหุ้นก็ยังสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ 12% ต่อปี โดยยังคงมีราคาถูกหรือระดับ P/E เฉลี่ยทั้งตลาดเพียง 11 เท่า และยังมีแนวโน้มจ่ายปันผลได้ในเดือนเมษายน - พฤษภาคมอีกด้วย ทำให้การลงทุนในหุ้นจึงยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจในขณะนี้สำหรับ Exchange Traded Fund (ETF) กองแรกของไทย หรือ “TDEX” นั้น เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น 50 ตัวเหมือนกองทุนที่อ้างอิงการลงทุนตามดัชนี SET50 แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ TDEX สามารถตรวจสอบมูลค่าหน่วยลงทุนได้ตลอดเวลา (Real time) ซึ่งสะท้อนดัชนี SET50 ตามความเป็นจริงในขณะนั้นด้วยส่วน Warrant หรือหุ้นลูกนั้น แม้ว่าจะมีราคาใช้สิทธิและราคาหุ้นแม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จากฐานราคาที่มีขนาดเล็ก ทำให้ราคาสามารถเหวี่ยงตัวได้มากกว่าหุ้นแม่ ทั้งนี้ ราคา Warrant จะปรับเข้าสู่จุดสูงสุดเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งอายุ เช่น วอร์แรนท์อายุ 10 ปี จะมีราคาสูงที่สุดเมื่อวอร์แรนท์นี้อายุ 5 ปี และยิ่งวอร์แรนท์มีอายุคงเหลือนาน ก็ยิ่งมีราคาใช้สิทธิสูงด้วยสำหรับ SET50 Index Futures และ SET50 Options นั้น นักลงทุนสามารถใช้ทำกำไรได้ทั้งในช่วงที่ตลาดขาขึ้นและขาลง โดยหากนักลงทุนมั่นใจว่าดัชนี SET50 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็สามารถเข้าทำสถานะ Long Futures ควบคู่กับการซื้อหุ้น ซึ่งจะสามารถทำกำไรได้ 2 ต่อ และหากคาดการณ์ว่าดัชนีมีแนวโน้มเป็นขาลง ก็สามารถ Short Futures ไว้ได้ เพื่อประกันความเสี่ยงจากราคาหุ้นส่วนความแตกต่างของการเลือกลงทุนในหุ้นหรือกองทุนนั้น สุวภากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความสามารถในการติดตามตลาดและความชอบของนักลงทุน โดยหากเป็นนักลงทุนที่มีเวลาติดตามตลาดและมีวินัยในการลงทุนก็อาจเลือกลงทุนในหุ้นเองได้ แต่หากเป็นผู้ที่ไม่มีเวลา ก็สามารถฝากให้ผู้จัดการกองทุนดูแลให้แทนได้เช่นกัน แต่นักลงทุนก็ไม่ควรพลาดการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ด้วย เพราะสามารถคาดหวังได้ว่าจะสร้างผลตอบแทนสูงขึ้นได้ในระยะยาว ส่วนการตัดสินใจลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญนั้น จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุน โดยหากเป็นนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ไม่สนใจเรื่องสภาพคล่องของหุ้น หรือเป็นผู้ที่กังวลในสถานการณ์ของบริษัทจดทะเบียนนั้น ๆ ก็ควรเลือกลงทุนในหุ้นบุริมสิทธิ เพราะมีความปลอดภัยจากการลงทุนสูงกว่านอกเหนือจากการลงทุนในตราสารประเภทต่าง ๆ แล้ว สุวภายังแนะนำว่า นักลงทุนควรกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ให้เหมาะสม (Asset Allocation) ด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน และนักลงทุนก็ควรติดตามสภาวะการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน

บทความจาก Money Channel

Wednesday, February 6, 2008

ทำสัญญาประกันภัยอย่างไร

การซื้อประกันชีวิตไม่เหมือนกับการซื้อสินค้าที่มีรูปลักษณะ ซื้อสินค้า เช่น ซื้อตู้เย็น เอาเงินไป ตรวจดูตู้เย็นที่จะซื้อ แล้วขนกลับไปมีใบรับรองสินค้า หากเสียหายภายใน 1 ปี จะซ่อมให้ฟรี ยกเว้นการเสียหายเกิดจากการใช้หรือต้องเปลี่ยนแปลงอะไหล่
หรือการซื้อที่ดิน เอาเงินไป เอาโฉนดไปโอนกันที่ที่ดินจังหวัด จบ สัญญามีไหม ถ้ายังไม่โอน ก็ทำสัญญาจะซื้อจะขาย ถ้าโอนกันแล้วมีภาระเรื่องเงินหรือไม่ ถ้ายังมี ก็ทำสัญญาอีกตัว ถ้าจำนองก็เปลี่ยนมือกันอย่างนี้เป็นต้น
แต่สัญญาประกันชีวิต อยู่ตรงไหน ..
ส่วนของสัญญาประกันชีวิตที่ใช้เป็นหลักฐาน เริ่มกันตั้งแต่ใบคำขอเอาประกันภัย ใบยืนยันหรือแถลงสุขภาพ ใบตรวจสุขภาพ เอกสารประกอบอื่นๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รวมไปถึงกรมธรรม์ประกันชีวิตที่บริษัทออกให้กับผู้เอาประกันภัย
ปกติสัญญาอื่นๆ ที่ไม่ใช่สัญญาประกันภัย จะต้องมีลายเซ็นของทั้งสองฝ่ายลงนามและมีพยานเซ็นเป็นสักขีพยาน แต่สัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันภัย กับผู้แทนบริษัทจะเซ็นสัญญากันคนละฉบับ ผู้เอาประกันก็จะเซ็นในส่วนเอกสารที่ส่งบริษัทคือใบคำขอ ใบแถลงสุขภาพ ใบตรวจสุขภาพเซ็นรับรอง สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ฯลฯ
แต่ส่วนของบริษัทก็คือการรับรองการรับประกันภัย ที่ปรากฏในใบหน้าของเอกสารกรมธรรม์ประกันชีวิต และเนื้อในของกรมธรรม์ซึ่งเราเรียกกันว่าเงื่อนไขกรมธรรม์บริษัทจะจ่าย จะไม่จ่าย จ่ายอย่างไร หรือถ้าไม่จ่ายทำอะไรต่อไป จะอยู่ในเงื่อนไขนั้น
ส่วนของบริษัทนี้สำคัญมาก เพราะขนาดกรมการประกันภัยให้ความสำคัญมอบสิทธิ์กับลูกค้าเมื่อรับกรมธรรม์แล้วสามารถอ่านทบทวนความพึงพอใจ ว่าตรงกับที่ตัวแทนของบบริษัทเคยมาอธิบายให้ฟังหรือไม่ หรือตรงกับใจตนเองหรือไม่ ถ้าพอใจก็สมบูรณ์ แต่ถ้าไม่พอใจให้แจ้งบริษัทเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับจากวันรับกรมธรรม์ ก็สามารถยกเลิกการรับประกันภัยครั้งนั้นได้และจะได้รับเบี้ยประกันภัยคืนภายหลัง โดยที่บริษัทไม่สามารถคัดค้านแต่อย่างใด
ต่อไปนี้ จะเป็นการทำความเข้าใจถึงสัญญาประกันชีวิต 2 ส่วนดังกล่าวข้างต้นให้ทราบอย่างละเอียด
ส่วนแรกที่ผมบอกว่า เป็นของผู้เอาประกันภัย
ในการตัดสินใจทำประกันชีวิต นอกจากจะพิจารณาถึงแบบของการประกันชีวิตและความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว การกรอกใบคำขอเอาประกันภัยมีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะใบคำขอเอาประกันภัยจะใช้เป็นหลักฐานในการแสดงเจตนาการทำประกันชีวิตและมีผลต่อการพิจารณารับประกันภัยด้วย
บริษัทได้ทำแบบฟอร์มลักษณะตอบคำถาม ซึ่งแบบฟอร์มดังกล่าวต้องขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ผู้เอาประกันภัยสามารถกรอกหรือทำเครื่องหมายได้ไม่ยากนัก ต้องกรอกและทำเครื่องหมายได้ไม่ยากนัก ต้องกรอกและทำเครื่องหมายให้ครบถ้วนทุกแห่ง มิฉะนั้นบริษัทจะไม่ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้
ข้อสำคัญที่สุดคือ ต้องกรอกใบคำขอเอาประกันภัยตามความเป็นจริงทุกประการด้วยตนเอง หรือหากผู้อื่นกรอกให้จะต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนลงลายมือชื่อหากปิดบังหรือไม่ตรงตามความเป็นจริงแล้ว ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัย
บริษัทอาจบอกล้างกรมธรรม์ประกันภัยได้ แม้ว่าจะได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว หรือหากผู้เอาประกันภัยถึงแก่กรรมแล้ว บริษัทก็มีสิทธิบอกล้างกรมธรรม์ประกันภัยได้ ผู้รับประโยชน์ก็จะไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย รายละเอียดในใบคำขอเอาประกันภัย จะประกอบด้วย
1. ชื่อ-ชื่อสกุล และอายุของผู้เอาประกันภัย 2. ที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย 3. อาชีพของผู้เอาประกันภัย 4. จำนวนเงินเอาประกันภัย 5. ผู้รับประโยชน์ 6. ประวัติการทำประกันชีวิต 7. ประวัติสุขภาพของผู้เอาประกันภัย
ส่วนที่สองคือ ส่วนของกรมธรรม์ประกันภัย
เมื่อผู้เอาประกันภัยตกลงทำประกันภัยและกรอกใบคำขอเอาประกันภัย พร้อมทั้งชำระเบี้ยประกันครบถ้วนแล้ว บริษัทก็จะออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องอ่านกรมธรรม์ประกันภัยโดยละเอียด เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตรงกับความต้องการหรือไม่ และศึกษาเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมทั้งหน้าที่และสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ องค์ประกอบของกรมธรรม์ประกันภัยจะประกอบด้วย
1. หน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย เป็นรายละเอียดที่แสดงให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบว่า เมื่อบริษัทตกลงทำสัญญาประกันภัยแล้ว จะระบุรายละเอียดต่างๆ ดังนี้ คือ
ชื่อ ที่อยู่บริษัท ชื่อและชื่อสกุล เอาประกันภัย อายุ เพศ ระยะเวลาเอาประกันภัย ระยะเวลา ชำระเบี้ยประกันภัย วันเริ่มสัญญาประกันภัย วันเริ่มสัญญาประกันภัย วันครบกำหนดสัญญาประกันภัย และแบบประกันชีวิต และสัญญาเพิ่มเติมที่ต้องมีการความคุ้มครอง พร้อมกับจำนวนเบี้ยประกันภัย และจำนวนเงินเอาประกันภัย และที่สำคัญต้องมีการลงลายมือชื่อกรรมการผู้ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทเพื่อพร้อมประทับตราของบริษัทไว้ด้วย
2. ข้อกำหนดการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย จะระบุถึงความคุ้มครอง เงื่อนไขการจ่ายเงินและผลประโยชน์ที่ผู้เอาประกันภัยพึงได้รับ
3. สัญญาหรือกรมธรรม์ประกันภัย เป็นสัญญาหรือข้อตกลงที่บริษัทมีต่อผู้เอาประกันภัย เช่น การแถลงอายุหรือเพศคลาดเคลื่อน การเปลี่ยนแบบประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย การเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย สิทธิและการใช้สิทธิในกรมธรรม์ประกันภัย การชำระเบี้ยประกันภัย ระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้น
4. ตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันไม่สามารถชำระเบี้ยประกันภัยได้ ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิด้วยการขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย การเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์เป็นแบบใช้เงินสำเร็จหรือขยายเวลา และในกรณีที่กรมธรรม์มีผลคับ และกรมธรรม์มีมูลค่าเวนคืนเงินสดแล้ว ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิในการก็เงินได้อีกด้วย
ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่ประสงค์หรือสนใจจะทำประกันชีวิต ก็คงจะรู้สึกอบอุ่นและสบายใจได้ว่าสัญญาประกันชีวิตมีจริง มีมากรายละเอียดและสามารถนำเป็นหลักฐานในระยะเวลา 10 - 20 ปี ที่เราทำประกันชีวิตไว้ได้อย่างแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง


บทความจาก นิตยสาร Thailand Insurance

ออมเงินเพื่อลูก

เมื่อชีวิตใหม่เกิน คนที่เป็นพ่อแม่ ต้องมีกิจกรรมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกิน การนอน สุขภาพ สนุก แบบยุ่งๆ ตลอดเวลา ต้องเป็นกังวลเรื่องสุขภาพ การเรียน จนกว่าลูกจะสามารถหารายได้เลี้ยงตัวเอง หรือยาวไปถึงชีวิตครอบครัวเลยทีเดียว
ซึ่งกว่าจะไปถึงจุดนั้น คนที่เป็นพ่อ แม่ ควรจะต้องมีการวางแผนเรื่องการเงินอย่างรอบครอบ เพราะแต่ละช่วงวัยของการเปลี่ยนแปลง จะมีความจำเป็น และเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และความจำเป็น
การวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับ พ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ มือใหม่ การประกันชีวิต ดูจะเป็นสิ่งที่จะสามารถตอบคำถาม และตอบสนองความต้องการ ที่กล่าวมาแล้วได้ทุกข้อทีเดียว เพราะวางแผนผ่าน ระบบประกันชีวิต เป็นการช่วยสร้างวินัย ในการออม ได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับพ่อแม่ ว่าในอนาคตลูกของคุณ จะได้รับความคุ้มครอง ในเรื่องของสุขภาพ เรื่องของทุนการศึกษา และมีเงินออมใช้ยามฉุกเฉินได้
เนื่องจาก การทำประกันเพื่อลูก ในปัจจุบัน มีความหลากหลาย ซึ่งพ่อแม่สามารถเลือกที่จะทำซื้อได้ให้ตรงกับความต้องการของลูก เช่น ทำประกันเพื่อความคุ้มครองด้านการศึกษา หรือทำประกันเพื่อสร้างสวัสดิการการรักษาพยาบาล หรือ อาจจะเผื่อไว้สำหรับในอนาคต ของลูกในเรื่องหลังจากที่ลูกสำเร็จการศึกษาเลยก็ยังได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ ที่มีอยู่
ทั้งนี้วิธีการง่ายๆ สำหรับพ่อ แม่ ไม่ต้องกังวลว่า ลูกยังเล็กใครจะเป็นผู้รับผลประโยชน์เพราะลูกยังเล็กเกินไป ตัดสินกันไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่จะต้องถูกระบุชื่อว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์ก็ย่อมต้องเป็นลูก เพียงแต่ พ่อ แม่ต้องเป็นผู้จ่ายเงินเท่านั้น
เพราะคนที่มีสิทธิ์ บนกรมธรรม์ไม่ใช่คนจ่ายเงิน แต่ถ้าใช้ชื่อพ่อ หรือแม่ เป็นผู้เอาประกัน ลูก จะได้รับผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อครบอายุสัญญาและพ่อ หรือแม่ได้เงินคืน หรือ ตอนที่พ่อ หรือแม่ เสียชีวิต ลูกก็จะได้รับผลประโยชน์ นอกจากนี้หากพ่อหรือแม่เป็นผู้เอาประกันเอง ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหยดภาษีอีกด้วย
แต่หากใช้ชื่อ ลูก เป็นผู้เอาประกัน แบบนี้ดีตรงที่ลูก จะได้รับ คือ 1. ความคุ้มครอง 2. เป็นการออมเงินให้ลูกในยามเจ็บป่วย โดยที่ความคุ้มครองยังอยู่ครบ เปรียบเสมือนกับเป็นสวัสดิการของลูก แถมยังมีเงินออมไว้ใช้ เมื่อคบสัญญาอีกด้วย
สำหรับข้อดีอีกประการหนึ่งของการทำประกันชีวิตให้ลูกคือ ความมั่นใจเรื่องของอนาคต และการศึกษาของลูก ตรงนี้หาก พ่อ แม่ ศึกษาถึงแบบประกัน ประกันประเภทเพื่อการศึกษาของลูก จะเห็นว่ามีหลายบริษัทประกันชีวิต ที่มีสินค้าประเภทนี้ที่มีความหลากหลาย ไว้ให้เลือกมากมาย ลองนำแบบประกันหลายๆ แบบ และหลายบริษัทมาเปรียบเทียบ โดยนำหลักของความพึงพอใจ เป็นที่ตั้ง และบวกลบ คุณ หาร ด้วย เงินในกระเป๋า ซึ่งต้องเป็น แบบและทุนประกันที่ต้องไม่สร้างภาระ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ให้กับครอบครัว แล้วตัดสินใจเลือกได้เลยรับรอบว่าดีแน่นอน
หรือจะใช้หลัก และวิธีการคิด ง่ายๆ ในการสร้างกองทุนประกันชีวิต คือย้อนกลับไปดูรายได้ของคุณ ว่ามีเท่าไหร่ แล้วชักออกมา 10-15% สำหรับจ่ายเบี้ยประกันภัยในแต่ละปี แต่ถ้ามันยังไม่มากพอ ก็สามารถที่จะซื้อเพิ่มได้ตามที่ ความสามารถ และกำลังทรัพย์ที่มี และคาดว่าจะหาได้ตลอดอายุสัญญาประกันภัยที่ซื้อไว้
นอกจากนี้ คุณพ่อ คุณแม่ ยังสามารถที่จะเลือกที่ความคุ้มครองสูง เบี้ยประกันต่ำ ซึ่งเหมาะสำหรับการสร้างกองทุนระยะยาว ที่เหมาะสำหรับประกันเฉพาะอนาคตให้ลูก เช่น คำนวณ แล้วว่า ควรจะซื้อประกันที่มีระยะเวลา 18 ปี สำหรับใช้เงินเมื่อลูก เริ่มต้นเรียนปริญญาตรี แทนที่จะเลือกซื้อแบบสะสมทรัพย์ ที่มีเงินจ่ายคืนทุกปี เปลี่ยนเป็นรับเงินเมื่อครบสัญญาของกรมธรรม์ แล้วรับเงินก้อนโตทีเดียว เรียกว่าเป็น ดอกเบี้ยทบต้นทบดอกไปเลย
หรือหากตั้งใจว่าจะทำประกันไว้แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายระหว่างทาง แทนที่จะรับเงินก้อนตอนที่ครบสัญญาอย่างเดียว คุณก็สามารถทำได้ด้วยการขอรับเงินคืนระหว่างปีสำหรับเป็นค่าเทอม ก็สามารถทำได้ ตรงนี้ไม่มีปัญหา แต่ต้องปรึกษากับตัวแทน หรือเจ้าหน้าที่บริษัท เพื่อขอคำแนะนำดู เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในการทำประกัน
หากคุณ ยังไม่แน่ใจว่าตลอดระยะเวลาของสัญญาประกันภัย ว่าจะเป็น 10 ปี หรือ 15 ปี หากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต จะทำอย่างไร ตรงนี้ก็มีทางออกเช่นกัน คือ ด้วยการการซื้อประกันออกเป็น 2 ฉบับ คือ ในระดับมัธยม และแบ่งไว้สำหรับ อุดมศึกษา คือ ฉบับแรก ซื้อกรมธรรม์ที่มีอายุ 10 ปี 1 กรมธรรม์ วางแผนไว้ว่าเมื่อครบสัญญาลูก เรียนจบชั้นประถม จะได้มีเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเรียนมัธยม และซื้ออีก 1 กรมธรรม์ ที่มีระยะเวลา 15 ปี เพื่อที่จะได้ใช้เงินเมื่อลูกเรียนปริญญาตรี
ทั้งนี้ในการแบ่งทำประกันเป็นช่วงๆ มีข้อดีคือ ทำให้เป็นภาระทางการเงินเกินไป อายุมากขึ้น ความเชี่ยวชาญมากขึ้น ฉะนั้น รายได้ก็น่าจะมากขึ้น รวมทั้งสัญญาที่ทยอยครบกำหนดทุกช่วง 5 ปี ยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้การเงินอนาคตคุณไม่เป็นภาระเกินไป
นอกจากการจัดสรรเรื่อง แบบและระยะเวลาของกรมธรรม์แล้ว หากเลือกผลประโยชน์ และความคุ้มครองที่จะเพิ่มขึ้น หรือเรียกว่า หากผลประโยชน์พลอยได้ ที่ไม่ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อันนี้ถือว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุด หรืออาจจะซื้อแบบกันที่มีความแตกต่างกัน เช่น โดยกรมธรรม์ฉบับแรกอาจจะซื้อ แบบที่มีทั้งสัญญาพิเศษเพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลเงินคืนระหว่างปี เพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากกรมธรรม์นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
ส่วนฉบับที่สอง และสาม อาจจะเลือกซื้อแค่ความคุ้มครองอย่างเดียว เพื่อให้ได้ทุนประกันที่สูงมากขึ้น แต่จ่ายเบี้ยประกันถูกลง กล่าวคือ เมื่อหาแบบประกันตัวหลักได้เรียบร้อย ก็ถึงคิวประกันพ่วงหรือ สัญญาพิเศษเพิ่มเติม อย่างแรกที่จะแนะนำคือ เลือกประกันเพิ่มเติมเท่าที่ “จำเป็น” เท่านั้น อะไรที่อยู่นอกข่ายความจำเป็นให้ตัดออกให้หมด
สิ่งสำคัญคือ ควรจะซื้อ ประกันสุขภาพสำหรับลูก ด้วยถ้าคุณจะเลือกแบบประกันค่ารักษาพยาบาลให้ลูก ต้องซื้อประกันด้วยชื่อของลูก แต่หาก พ่อ แม่ เป็นข้าราชการ หรือเป็นพนักงานบริษัท ที่มีสวัสดิการเผื่อแผ่ค่ารักษาพยาบาลไปถึงลูกก็ยิ่งดีใหญ่ แทนที่จะจ่ายเงินซื้อประกันสุขภาพ 100% คุณก็เลือกเฉพาะส่วนเกินจากสวัสดิการที่ดี แต่ถ้าไม่มีสวัสดิการที่เผื่อแผ่มาถึงลูก ขอแนะนำว่าให้ซื้อเผื่อไว้สำหรับลูก
โดยที่ พ่อ แม่ สำรวจค่าห้องพยาบาลว่าอยู่ในอัตราเท่าไหร่ แต่ไม่ต้องซื้อค่าห้องเต็มที่ เพราะประกันสุขภาพเป็นประกันแบบ ทิ้งเปล่า ปีต่อปี การเลือกซื้อประกันสุขภาพอาจเลือกแค่ 80% ของเงินค่าห้องที่คุณพอจะรับได้ เวลาต่อประกันปีต่อไปจะได้ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่จ่ายไปมากนัก
เพราะแบบนี้ลูกคุณ จะใช้สิทธิได้เฉพาะป่วยหนักจนต้องนอนค้างโรงพยาบาล แต่จะมีประกันอีกแบบที่น่านสนใจ นั่นคือประกันสุขภาพแบบ เหมาจ่าย ซึ่งมีข้อดี คือสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้แต่ก็มีข้อติ คือ เบี้ยประกันสำหรับเด็กแพงมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นประกันมาก ประกันน้อยที่ไม่ควรพลาด คือไม่ว่าคุณจะซื้อประกันแบบไหนให้ลูกก็ตาม พ่อ แม่ ควรจะซื้อในแบบที่ถูกแล้วเป็นผู้ชำระเบี้ยแทน และไม่เป็นภาระสำหรับพ่อแม่ด้วย


บทความจาก นิตยสาร Thailand Insurance

Tuesday, February 5, 2008

เคลมประกันอย่างไรให้เร็ว

มีหลายครั้งที่ได้ยิน ได้ฟังถึงความคับอกคับใจจากคนใกล้ชิดว่า ถึงเวลาเคลมประกันทีไร มันช่างยากเย็นแสนเข็น รอกันเป็นชาติกว่าจะได้เงินประกัน บ้างก็บ่นว่า ทำไมขั้นตอนมันช่างยุ่งยากเสียกระไร ไม่เห็นเหมือนตอนที่จ่ายเบี้ยประกันภัยเลย บางคนถึงกับตีโพยตีพาย เลยไปถึงขั้นเกิดอาการเกลียดประกันเลยก็มี
เรื่องแบบนี้ จะว่าไปก็เป็นปัญหาโลกแตกสำหรับบริษัทประกันเช่นกัน เพราะผู้เอาประกันเปรียบเหมือนพระเจ้า อยากรีบจ่าย แต่บางครั้งก็จำนนด้วยเงื่อนไข ว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอน ฝ่ายลูกค้าเอง บางครั้งก็ใจร้อนไปหน่อย บางคนก็เข้าใจถึงขั้นตอนการทำงาน การพิจารณาตรงนี้ไม่มีปัญหา
เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย อินไซด์ประกันฉบับนี้ เลยต้องหยิบยก วิธีการเคลมอย่างไรให้เร็วมาฝากกัน เผื่ออย่างน้อยจะได้ช่วยให้กระบวนการทำงานของบริษัทประกันในการพิจารณาเคลมให้เร็วได้ทันใจมากขึ้น
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเคลมประกันหรือการเคลมสินไหม นั้น มี 2 แบบคือ เคลมสินไหมทดแทน อันนี้หมายถึงการเคลมประกันในลักษณะที่ผู้เอาประกันมีชีวิต จะเป็นลักษณะการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือเป็นลักษณะของการเจ็บป่วยธรรมดา แล้วต้องการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกัน
ส่วนอีกแบบคือ เป็นการเคลมสินไหมมรณกรรม แบบนี้เป็นกรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดก็ตามต้อง ทำความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ ในการเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณาเคลม เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว
โดยปกติ ผู้เอาประกันสามารถเคลมสินไหมได้ภายในระยะเวลา 5-8 วัน แต่ในบางกรณีที่หลักฐานเอกสารไม่ครบถ้วนหรือเป็นการเรียกร้อง สินไหมที่มีความสลับซับซ้อน บริษัทฯ ก็จำเป็นต้องขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม หรือต้องใช้เวลาในการติดตามและตรวจสอบ ซึ่งโดยทั่วไปขึ้นตอนการเรียกร้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันมีดังนี้
1. กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ผู้รับประโยชน์จะต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันเสียชีวิต เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีใครทราบว่าผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือประกันชีวิตไว้ ซึ่งในกรณีนี้จะต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบว่าผู้เอาประกันเสียชีวิต กรณีประสบอุบัติเหตุ แต่ไม่เสียชีวิตต้องแจ้งให้บริษัทฯ ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันประสบอุบัติเหตุ
2. ส่งหลักฐานการเรียกร้องสินไหมตามแบบฟอร์มที่บริษัทฯ กำหนดภายใน 90 วัน ของการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่บริษัทฯ มีภาระผูกพันในกรณีทุพพลภพ
3. บริษัทฯ มีสิทธิขอตรวจร่างกายของผู้เอาประกันเสียชีวิต บริษัทฯ จะจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ กรณีผู้รับประโยชน์ เสียชีวิตก่อนหรือพร้อมกับผู้เอาประกัน โดยผู้เอาประกันไม่ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนผู้รับประโยชน์ บริษัทฯ จะจ่ายให้แก่กองมรดกของผู้เอาประกัน แต่ในกรณีมีผู้รับประโยชน์หลายคน แบะผู้รับประโยชน์บางคนเสียชีวิตก่อนหรือพร้อมกับผู้เอาประกัน บริษัทฯ จะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่เหลือ อยู่คนละเท่าๆ กัน หรือเป็นไปตามส่วนที่ผู้เอาประกันได้แสดงเจตนาไว้ในใบคำขอ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นว่า ขั้นตอนต่างๆ ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดเลยเพียงแต่ขอให้ผู้เอาประกันทำความเข้าใจกันให้ถ้องแท้เสียก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของหลักฐาน และการตอบข้อซักถามของเจ้าหน้าที่บริษัทประกัน อันจะเป็นผลทำให้การพิจารณาเร็วขึ้นด้วย


บทความจาก นิตยสาร Thailand Insurance