โฆษณา

Wednesday, November 26, 2008

เจาะกลยุทธ์..นักธุรกิจ-นักลงทุน คนดัง สามวัย สามสไตล์ลงทุน

นอกจากช่วงวัยที่แตกต่างกันแล้ว กลยุทธ์หรือสไตล์ลงทุนยังไม่ซ้ำแบบของ "ชายต่างวัย" 3 นักธุรกิจ นักลงทุนชื่อดัง อย่าง.. "ธนพ เอี่ยมอมรพันธ์" "ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา" และ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ยังมีแนวทางลงทุนของตัวเอง เพื่อต้านภาวะวิกฤติเงินเฟ้อได้อย่างน่าสนใจ
ในวัยเพิ่งเริ่มต้นสร้างครอบครัวของ "ธนพ เอี่ยมอมรพันธ์" นักธุรกิจและนักลงทุน บอกว่า กลยุทธ์การลงทุนของเขาในช่วงนี้ จะไม่ทิ้งเงินลงทุนไว้ในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และทองคำเลย เนื่องจากมองว่าทุกตลาดมีความเสี่ยงเกินไป จึงเน้นเก็บเป็นเงินสดมากที่สุด
โดยเขาใช้วิธีเก็บเงินสดไว้ในรูป Currency หรือลงทุนในค่าเงินสกุลต่างๆ ของโลก 7 สกุล ไม่ว่าจะเป็นสกุลดอลลาร์ ดอลลาร์ออสเตรเลีย หยวนของจีน เยนของญี่ปุ่น เงินยูโร เงินสวิสฟรังก์ และปอนด์อังกฤษ
เป้าหมายเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของเงินลงทุนไปยังเงินสกุลต่างๆ ของโลก แทนที่จะฝากเงินไว้กับสกุลใดสกุลหนึ่ง
"ตอนนี้ผมไม่มีเงินลงทุนในหุ้น บอนด์ และทองคำเลย พอร์ตลงทุนเป็น 0% แต่จะกระจายไปเก็บไว้ในค่าเงิน 7 สกุลหลัก เพราะมองว่าในโลกนี้รัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีมูลค่าของค่าเงินไม่เหมือนกัน ผมจึงใช้วิธีให้ค่าสกุลต่างๆ เฮดจ์ระหว่างกันเอง ถ้าช่วงไหนที่ค่าเงินบางสกุลมีค่ามากขึ้น ผมก็จะโยกเงินลงทุนไปในสกุลที่มีค่าขึ้นมากกว่า แต่จะรอจังหวะว่าอะไรน่าลงทุน"
ส่วนการลงทุนในสินค้าคอมมอดิตี้อย่างน้ำมัน หรือทองคำ ธนพ มองว่า แม้คนจะมองกันว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไปถึง 150 เหรียญต่อบาร์เรล แต่เขาเห็นว่าไม่น่าจะใช่จังหวะเวลาที่น่าลงทุนในช่วงนี้แล้ว รวมถึงลงทุนในทองคำ ด้วย
"ผมดูว่าไทมิ่งไม่น่าจะลงทุนในน้ำมัน หรือทองคำ เพราะคิดว่าราคาทองคำไม่น่าจะไปถึง 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และถ้าจะลงทุนก็ควรต้องซื้อก่อนนานมาก"
แต่สำหรับ "ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา" นักธุรกิจและนักลงทุน ในวัย 43 ปี กลับมีกลยุทธ์หรือสไตล์การลงทุนที่ต่างออกไป
เขากล่าวว่า ไลฟ์สไตล์ของแต่ละช่วงชีวิตของเขามีผลต่อการลงทุน อย่างเขาตอนนี้อายุ 43 ปี จะมีแนวทางการลงทุนที่ต่างจากตอนอายุ 20 ปี ที่พอได้เงินมาก็จะใช้หมดไม่ห่วงกลัวอนาคต
แต่พอมีอายุมากขึ้นเช่นตอนนี้ ก็เริ่มสร้าง “Cash Machine” หรือเครื่องมือสร้างเงินสดให้แก่ตัวเองและพ่อแม่ ซึ่งก็คือ การสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองโดยตั้งบริษัทขึ้นมา
“ผ่านไป 10 ปีตอนนี้เริ่มเห็นแคชเข้ามาชัดเจนขึ้น เพราะธุรกิจเริ่มมีกำไรหลังจากที่เจ๊งมาก็มาก”
ด้านกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ โสรัชย์ บอกว่า จะมองเรื่องความมั่นคงของเงินลงทุนเป็นหลักไว้ก่อน โดยจะไม่ลงทุนในสิ่งที่หวือหวา เพราะไม่ต้องการเสียเงินต้นไป และจะต้องมีเงินสดไว้เป็นสภาพคล่องด้วย
“ศัตรูสำคัญของการลงทุนก็คือ เงินเฟ้อ ผมจะสู้กับเงินเฟ้อ เพื่อให้เงินที่ลงทุนไปแล้วได้รับผลตอบแทนกลับคืนที่สูงกว่า”
พอร์ตการลงทุนของโสรัชย์ช่วงนี้ส่วนใหญ่จึงเทน้ำหนัก 60% ของเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่คุ้มครองเงินต้น แต่ต้องได้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ เช่น ตราสารหนี้ พันธบัตร เป็นต้น
แต่จะมีเงินอีกส่วนหนึ่งราว 10% จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การเทรดดิ้งหุ้น ด้วยเช่นกัน
สุดท้าย เป็นเงินที่กันไว้สำรองฉุกเฉินราว 30% ของเงินลงทุนส่วนตัว
“กองทัพหน้า จะเหมือนกับหน่วยคอนมานโดไว้บุกลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยง หรือเทรดดิ้งในหุ้น ส่วนกองทัพหลัก จะเน้นต้องมีผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ และเน้นคุ้มครองเงินต้น ส่วนที่เหลือจะกันไว้เป็นกองเสบียงสำรองเมื่อเวลาฉุกเฉินของชีวิต”
ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจ ช่วงวัยกลางคนถือเป็นช่วงที่สร้างรายได้ได้มากที่สุด โสรัชย์บอกว่า สิ่งที่จำเป็นและต้องระมัดระวังให้มากก็คือ มักจะถูกจูงใจให้ไปลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่อย่าลืมนึกถึงความเสี่ยงสูงที่แฝงอยู่ไว้ด้วย
การลงทุนที่ดีของวัยมากกว่า 40 ปี เราต้องดูการลงทุนที่มูลค่าแท้จริงและเลือกเฟ้นหา โดยต้องแยกให้ออกว่าระหว่างความฝันที่เราตั้งไว้ว่าจะดูแลครอบครัวอย่างไรเมื่อเกษียณอายุกับความเพ้อฝัน เพราะช่วงวัยนี้จะมีเงินสดมาก ทำให้การลงทุนขยายตัวและมีเครดิตที่ดี
ช่วงนี้จึงต้องระมัดระวัง เพราะจะวูบได้ง่ายกับการลงทุน ซึ่งจะวิ่งเข้ามาหามา
อยากแนะนำว่า ความฝันกับเพ้อฝันต้องแยกให้ชัดเจน เพราะเพ้อฝันคือจะมองผลตอบแทนสูงที่เสนอให้ ฉะนั้น จึงไม่ควรออกนอกธุรกิจที่เป็นเฉพาะทาง และลงทุนในสิ่งที่มีทักษะความรู้ชัดเจน"
นอกจากการวางแผนลงทุนแล้ว สิ่งสำคัญของคนในวัยนี้ก็คือ การวางแผนการศึกษาเพื่อลูก
“เรื่องลูกคิดว่าปัจจุบันค่าเล่าเรียนได้เพิ่มสูงขึ้นมาก และมีการศึกษาหลายรูปแบบ จึงจะกันเงินไว้ก้อนหนึ่งเพื่อการศึกษาลูกในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท แต่การวางแผนการศึกษาจะขึ้นอยู่กับแคช แมชชีน หรือรายได้ของแต่ละคนด้วย”
นอกจากวางแผนการศึกษาให้ลูกแล้ว โสรัชย์ยังวางแผนด้านดูแลสุขภาพอีกด้วย
“ผมแต่งงานช้า มาแต่งงานเมื่อตอนอายุ 37 ปี ตอนนี้มีลูก 3 คน คนโตอายุ 5 ขวบ 3 ขวบ และ 2 ขวบ กว่าลูกจะมีวุฒิภาวะก็อีกประมาณ 20 ปีกว่า เรื่องส่วนตัวจึงต้องวางแผนดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย สำหรับผมคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อไม่ให้เป็นอัลไซเมอร์เสียก่อนที่ลูกจะโต”
ด้านการทำธุรกิจก็เช่นกัน เขาบอกว่า ได้ประกันความเสี่ยงธุรกิจไว้โดยแยกเงินไว้หลายส่วนทั้งในบัญชีออมทรัพย์ กองทุนมันนี่มาร์เก็ต รวมถึงการกู้เงินธนาคาร หรือการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ เพื่อขยายความมั่นคงของธุรกิจ
“ช่วงวัยนี้ต้องระมัดระวังการขยายตัวธุรกิจและลูกหนี้ เพราะมองว่าประเทศมีความเสี่ยง เราต้องพิจารณาตลอดว่า เมื่อใดที่ยอดขายเราลดลงครึ่งหนึ่ง เราจะดูแลพนักงานต่อไปได้หรือไม่ ส่วนการลงทุนหลักๆ ในพอร์ตของผมจะผ่านกองทุนรวม ถ้าไม่มั่นใจก็ลงทุนแบบคุ้มครองเงินต้น ผลตอบแทนอาจไม่มากแต่ปลอดภัย แต่มีเงินบางส่วนลงทุนในหุ้นด้วย” โสรัชย์ กล่าว
ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักมองว่า การลงทุนในหุ้น เป็นเรื่องอันตรายสำหรับคนที่มี "อายุมาก" หรือไม่เหมาะสำหรับคนในวัยเกษียณ เพราะมีความเสี่ยงสูง และควรหลีกเลี่ยงลงทุน เช่นในช่วงวิกฤติเงินเฟ้อสูงเช่นนี้ แต่สำหรับ "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุน Value Investor กลับมีคอนเซปต์การลงทุนในมุมต่างว่า ยิ่งอายุมาก จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นสัดส่วนมากๆ เพราะหุ้นจะทำงานแทนเรา ถ้าไม่ลงทุนก็เหมือนหยุดทำงาน
“ช่วงตอนที่เป็นหนุ่มยังสามารถทำงานได้ จึงไม่ต้องลงทุนมาก แต่เมื่ออายุมากขึ้นผมมีคอนเซปต์ว่า ต้องลงทุนในหุ้นมากๆ เพื่อให้หุ้นทำงานแทนเรา เพราะถ้าหากเกษียณแล้ว ไม่มีงานทำ ก็เท่ากับกินของเก่า ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีโอกาสที่จะไม่มีเงินใช้ในอนาคต”
ดร.นิเวศน์บอกว่า การลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีระยะยาว จะรู้จักหากิจการลงทุนที่มีความมั่นคง จ่ายปันผลสม่ำเสมอ มีการเติบโตทุกปี จะทำให้การลงทุนไม่มีความเสี่ยง เพราะบริษัทจะมีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้ราคาหุ้นไม่ขึ้น แต่ก็จะไม่ขาดทุน เพราะยังได้เงินปันผล บางบริษัทให้ปันผลถึง 10% ต่อปี
ส่วนการลงทุนในช่วงนี้ ดร.นิเวศน์กล่าวว่า พอร์ตลงทุนส่วนตัวยังลงทุนในหุ้นทั้ง 100% ของเงินลงทุน แม้ว่าในปีที่ผ่านมา (2550) ผลตอบแทนจากหุ้นจะแย่กว่าตลาด โดยได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 7% แพ้ตลาดที่ได้ 26% ต่อปี
"แต่เราจะไม่เปรียบเทียบตลาด ผมลงทุนได้ 7% ก็ดีกว่าฝากเงิน หลักการของผมขอเพียงอย่าให้ขาดทุนเท่านั้น ขณะที่ค่าพีอีหุ้นไทยที่ 10 เท่าขณะนี้ ใกล้เคียงกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถ้าเข้าลงทุนและถือยาวได้ 4-5 ปี เชื่อว่าดัชนีต้องมากกว่าวันนี้ ก็จะไม่ขาดทุน เพราะยังได้รับปันผล" ดร.นิเวศน์ กล่าว

บทความจาก bangkokbizweek