โฆษณา

Wednesday, November 7, 2007

ประเทศน่าลงทุน จีน-อินเดีย

หนึ่งในแนวทางเลือกกองทุนเอฟไอเอฟ ในยุคความเสี่ยงสูงๆ เช่นนี้.. คือ การเลือกลงทุนแบบ "รายประเทศ" หรือรายอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพการเติบโตในอนาคตสูง หรือที่เรียกว่า "Pick up Area"
หรือเป็นแนวทางลงทุนในหลักการเดียวกันกับการเลือกหุ้นเล่น "รายตัว" (Selection)
"พิชา รัตนธรรม" ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการลงทุนธุรกิจ กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า ในยุคแรกของการลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟ กองทุนส่วนใหญ่มีนโยบายลงทุนมุ่งนำเงินไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก หรือที่เรียกว่าเป็น Global Funds ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยของนักลงทุนในช่วง 3-4 ปีก่อน
แต่ปัจจุบันทางเลือกลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟ เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เพราะนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ของกองทุนที่มีในขณะนี้ มีความหลากหลายและมีสีสันมากขึ้น ตั้งแต่กระจายลงทุนในภูมิภาคต่างๆ เลือกรายประเทศ ตลอดจนรายอุตสาหกรรม
"แต่เดิมนักลงทุนจะคุ้นเคยกับเอฟไอเอฟที่กระจายลงทุนไปตลาดหุ้นทั่วโลก หรือ โกลบอล ฟันด์ แต่ยุคนี้นักลงทุนควรจะเลือกกองทุนในลักษณะ Pick up Area หรือ Country Fund ที่เน้นลงทุนเจาะประเทศใดประเทศหนึ่ง เหมือนกับการเลือกหุ้นรายตัวที่มีศักยภาพ จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี และได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวน้อยกว่า"
พิชาให้แนวทางกว้างๆ ว่า นักลงทุนควรจะเริ่มจากการดูภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ก่อนว่าดีหรือไม่ มีผลกระทบอะไรบ้าง ตลอดจนผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ เทียบกับเงินฝากเป็นอย่างไร
"การแบ่งเงินลงทุนไปลงทุนในเอฟไอเอฟ ในภาวะที่หวั่นเกรงว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอ ถ้าคิดจะซื้อกองทุนเอฟไอเอฟ ควรจะซื้อกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในประเทศจีน อินเดีย จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการกระจายลงทุนทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีสินค้าออกมาให้เลือกมากขึ้น"
โดยเฉพาะตลาดหุ้นของประเทศในเอเชีย อย่างหุ้นจีนและอินเดีย ที่การเติบโตของเศรษฐกิจกำลังร้อนแรงและได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์น้อยกว่าภูมิภาคอื่นของโลก
เขามองว่า การขยายตัวเศรษฐกิจจีนและอินเดีย มีแนวโน้มที่จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 9-10% การนำเงินไปลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟ ประเภทหุ้น จะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนเอฟไอเอฟตราสารหนี้
"กองทุนเอฟไอเอฟ เริ่มเข้าไปลงทุนในจีนและอินเดีย เพราะเป็นตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในโลก อย่างตลาดหุ้นอินเดียไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบเช่น สงคราม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น หรือโรคซาร์ส แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปก็มีการซื้อหุ้นกลับ โดยเฉลี่ยหุ้นจีนและอินเดียให้ผลตอบแทน 40% ต่อปี สูงสุดในโลก" พิชากล่าว
สำหรับกองทุนเอฟไอเอฟที่ลงทุนในจีนและอินเดีย ที่ออกมาเสนอขายช่วงนี้ ก็เช่น “กองทุนเปิด ทิสโก้ ไชน่า อินเดีย ดิวิเดนด์ ฟันด์” ของบลจ.ทิสโก้ เน้นลงทุนในตลาดหุ้นจีนและอินเดีย เปิดจองซื้อครั้งแรกระหว่างวันที่ 1-12 ตุลาคม 2550 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 20,000 บาท
โดยกองทุนนี้มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund) ในต่างประเทศ ที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนจัดตั้ง หรือประกอบธุรกิจในจีนและอินเดีย ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตและมีโอกาสในการทำกำไร
บริษัทจะจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิ
นอกจากนั้น ยังมีกองทุนเปิด "แอสเซท พลัส เอเชี่ยน สเปเชี่ยล ซิททูเอชั่นส์" ของบลจ.แอสเซท พลัส ที่มุ่งลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศเอเชีย ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ผ่านกองทุน Fidelity Adveisor World Asian Special Situation Fund ซึ่งเป็นกองทุนเปิดบริหารและจัดการโดย Fidelity Management & Research Company (FMR) กำหนดเสนอขายระหว่างวันที่ 15-25 ตุลาคม 2550
"ทางเลือกลงทุนในประเทศทวีปเอเชีย มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นไทย เพราะเศรษฐกิจของประเทศเอเชียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาซับไพรม์ที่ส่งผลต่อประเทศเอเชียได้ลดลง" ลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส กล่าว


จาก กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฉบับวันที่ 5/10/2550

No comments: