โฆษณา

Wednesday, November 7, 2007

20 แบงก์ตื่น 'แท็ปสาย' ลงขัน 200 ล้านผุดโปรแกรมซอฟต์แวร์

ปัญหาการทุจริตบัตรเครดิตที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ 20 สถาบันการเงินในประเทศ ไม่อาจนิ่งนอนใจ ถึงขั้นยอมลงขันเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาท ร่วมกับวีซ่า เพื่อ "วางระบบ" ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งในเชิงมูลค่าและความเชื่อมั่น
การวางระบบ "ซอฟต์แวร์" Terminal line-encryption ในเครื่องรูดบัตรชนิด EDC (Electronic Data Capture) ทั่วประเทศจะแล้วเสร็จในปลายปี 2550
"สมชาย พิชิตสุรกิจ" หัวหน้าคณะทำงานป้องกันการทุจริตบัตรเครดิต ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต เล่าว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คดีปลอมแปลงบัตรเครดิตกลายเป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซีย ที่รับรู้กันว่ามีคดีอาชญากรรมบัตรเครดิตติดอันดับโลก ทำให้รัฐบาลมาเลเซียต้องออกกฎเหล็กเมื่อปลายปี 2547 กำหนดให้สถาบันการเงินที่ออกบัตรจะต้องใช้วิธี "ฝังชิพ" เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลผ่านบัตรเครดิต ด้วยการแท็ปสายโทรศัพท์ผ่านเครื่องรูดบัตรชนิด EDC (Electronic Data Capture)
ส่วนในเมืองไทย เฉพาะช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 ไทยได้รับความเสียหายประมาณ 450 ล้านบาท ไม่นับการทลายแก๊งแท็ปสายโทรศัพท์ที่จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ในช่วงเดือน มกราคม-ตุลาคม 2550 ยังพบการปลอมแปลงบัตรเครดิตทั้งสิ้นกว่า 7,000 ใบ
เมื่อปัญหาเริ่มบานปลาย ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตที่มีสมาชิกประมาณ 20 ธนาคาร จึงร่วมกับวีซ่า ลงขันในวงเงินกว่า 200 ล้านบาท เพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์กำหนด "รหัสผ่าน" ทางสายโทรศัพท์ (Terminal Line-encryption) เพื่อป้องกันการแท็ปข้อมูลบัตรเครดิต ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2550 และมีแผนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2550
โดยขณะนี้ดำเนินการไปได้กว่า 70%
ซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะป้องกันการขโมยข้อมูลผ่านทางสายโทรศัพท์ด้วยการแปลงไฟล์เป็นข้อมูลที่ต้องใส่รหัสผ่านป้องกันการเปิดดูข้อมูลระหว่างส่งข้อมูลจากเครื่องรูดบัตรไปยังสถาบันการเงินผู้ออกบัตร
"การแท็ปสายโทรศัพท์แต่ละครั้ง จะได้ข้อมูลจำนวนมากเป็นร้อยถึงแสนข้อมูล มากกว่าเครื่อง skimmer โดยจะได้ทั้งข้อมูลของลูกค้า และธุรกรรมที่ถูกส่งผ่านเครื่องรูดบัตรเมื่อซื้อสินค้า การรูดบัตรที่ผ่านมาจะไม่มีถามหารหัสผ่าน ข้อมูลทั้งหมดจึงถูกส่งผ่านโดยตรง ทำให้มีการดักข้อมูลไว้กลางทางที่ตู้พักสายโทรศัพท์สีเขียวได้ จึงจำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมป้องกันการเข้าถึงข้อมูลก่อนส่งข้อมูลไปยังธนาคาร" สมชายเล่า
สำหรับกระบวนการลงโปรแกรมซอฟต์แวร์นั้น ทางสถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะต้องนำโปรแกรมเข้าไปติดตั้งในเครื่องรูดบัตรชนิด EDC ให้กับร้านค้าที่บอกรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตทั่วประเทศ ถือเป็นต้นทุนที่สูงและใช้ระยะเวลานาน หลังจากทยอยติดตั้งซอฟต์แวร์หมดทุกห้างร้านทั่วประเทศในปลายปี 2550 เชื่อว่าตัวเลขความเสียหายจากการปลอมบัตรเครดิตจะลดลง
ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 พบว่ายังคงจับกุมผู้ปลอมแปลงบัตรเครดิตได้อย่างต่อเนื่อง เฉพาะธนาคารกสิกรไทยแห่งเดียว จับกุมได้ประมาณ 38 คดี มีผู้ต้องหา 47 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นมิจฉาชีพกลุ่มเล็ก ที่ล้วงข้อมูลจากการอ่านข้อมูลด้วยเครื่อง skimmer
ด้าน "ธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บัตรเครดิตกรุงไทย ในฐานะรองประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต เล่าถึงแผนการป้องกันของธนาคารให้ฟังว่า ค่อนข้างตื่นตัวหลังจากพบว่ามีการทุจริตบัตรเครดิตในอัตราค่อนข้างสูง โดยเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเปลี่ยนลักษณะบัตรจากบัตรที่เป็นแถบแม่เหล็กมาเป็นการฝังชิพ ซึ่งธนาคารจะเป็นผู้ลงทุน และจะค่อยๆ เปลี่ยนให้กับลูกค้าที่แจ้งความประสงค์ทันทีที่บัตรเดิมหมดอายุลง
ปัจจุบันผู้ใช้บัตรเครดิตเคทีซีเปลี่ยนมาใช้บัตรฝังชิพเกือบ 100% แล้ว เหลือเพียงบางรายที่รอบัตรหมดอายุเท่านั้น
"เมื่อก่อนจะใช้บัตรเครดิตแบบแถบแม่เหล็ก ระบบก็จะอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตร ส่งผ่านสายโทรศัพท์ ทำให้เกิดการขโมยข้อมูล แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการและร้านค้าหันมาร่วมมือกับทางวีซ่าโดยใช้บัตรเครดิตแบบติดชิพ ถือว่าป้องกันการขโมยข้อมูลได้ดี เพราะอ่านข้อมูลได้ยาก และเวลาสอดบัตรเข้าเครื่องอ่านบัตรก็จะมีการอ่านข้อมูลจากชิพแทน" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บัตรเครดิตกรุงไทย กล่าว


จาก กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฉบับวันที่ 12/10/2550

No comments: