โฆษณา

Tuesday, August 10, 2010

ประวัติทองคำในประเทศไทย

ประวัติทองคำในประเทศไทย
ประเทศไทย เคยเป็นที่รู้จักและเรียกกันมาตั้งแต่สมัยโบราณว่า “สุวรรณภูมิ” แปลว่าแผ่นดินทอง การที่ประเทศไทยได้ชื่อนี้อาจเนื่องมาจากความเป็นจริงของธรรมชาติตามหลักฐานที่กรมทรัพยากรธรณีมีอยู่ ซึ่งล้วนแต่มีการร่อนหาทองคำกันมาแต่โบราณ ประเทศไทยครั้งนั้นคงมีทองคำอุดมสมบูรณ์มาก นักเผชิญโชคชาวภาระตะผู้นำอารยะธรรมของชมพูทวีปมาสู่กัมพูชา ในโบราณกาลจึงพากันเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “สุวรรณภูมิ” แผ่นดินที่เรียกว่าสุวรรณภูมินี้มีอาณาเขตครอบคลุมพม่า ไทย ตลอดจนแหลม มาลายู สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงประทานอรรถาธิบายไว้ในคำอธิบายหนังสือพระราชพงศาวดาร เล่มที่หนึ่ง(พ.ศ.2457) ว่าทรงเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “สุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ตั้งแต่เมืองมอญ ตลอดลงมาถึงแหลมมาลายู หรือบางทีอาจตลอดไปจนถึงเมืองญวน โดยในครั้งกระโน้น ดินแดงนี้อาจเรียกว่าสุวรรณภูมิทั้งหมด”
ความผูกพันกันระหว่างโลหะทองคำกับคนไทยนั้น มีมายาวนาน อาจย้อนไปถึงสมัยอาณาจักรเชียงแสนเพราะมีหลักฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำซึ่งมีศิลปะแบบเชียงแสน ปรากฎอยู่ จากนั้น เมื่อไทยได้รับระบบสมมติเทวราชของขอมมาให้เป็นสถาบันบริหารสูงสุดของประเทศ ทองคำถูกนำมาใช้ในการทำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคทั้งหลาย
ความมั่งคั่งในทองคำของไทยในอดีตอาจพิจารณาได้จากการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับชาวต่างชาติ เช่น พระราชสาสน์นั้นเป็นการเขียน (จาร) ลงบนแผ่นทองคำที่เรียกว่าพระสุพรรณบัฏ และเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ที่ทำด้วยทองคำเป็นต้น นอกจากนี้เครื่องใช้และเครื่องประดับต่าง ๆ ก็ยังนิยมใช้ทองคำด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงถึงการมีทองคำอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อกันว่าที่มาของทองคำเหล่านี้ คือแหล่งทองที่เป็นเกล็ดปนอยู่ในทรายซึ่งมีอยู่ทั่วไปตามลำธารของภาคเหนือและภาคอีสานตอนเหนือ
ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งทองคำไปเป็นเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสถึง 46 หีบ และพระองค์ได้ให้เอกอัครราชทูตไทยที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนั้นว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการทำเหมืองแร่ทองคำจากฝรั่งเศสมาด้วย แร่ทองคำที่มีการผลิตหรือร่อนแร่กันในสมัยนั้น คือ แร่ทองคำบ้านป่าร่อน อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีการค้นพบและทำเหมืองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2283 และมีหลักฐานว่าในปี พ.ศ.2293 สามารถผลิตทองคำ ได้ทองคำหนัก 90 ชั่งเศษ หรือน้ำหนักประมาณ 109.5 กิโลกรัม
ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีเครื่องทองคำที่ควรกล่าวถึง เป็นเครื่องประดับสำหรับเกียรติยศซึ่งปรากฏในหลักฐานเอกสารต้นตำนานตรานพรัตน์ฯ เมื่อพระมหากษัตริย์บรมราชาภิเษกเสด็จประทับพระที่นั่งภัทรบิฐพราหมณ์ย่อมถวายพระสังวาลย์นพรัตน์นั้นสวมทรงก่อน
จวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 เป็นต้นมา ในรัชกาลที่ 4 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การขุดทองลดน้อยลงจนต้องหาซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ การใช้ทองคำมีปรากฏในพระราชนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับการทำเงินตราสยามเป็นเหรียญเงิน และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำเหรียญทองคำ ด้วยเช่นกัน
กระทั่งปี พ.ศ.2414 มีการค้นพบทองคำที่บ้านบ่อ อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีและได้มีการทำเหมืองด้วยวิธีการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินในปี พ.ศ.2416 โดยพระปรีชากลการเจ้าเมืองปราจีนบุรี แต่ปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2421 ต่อมาได้เปิดดำเนินการอีกครั้ง ในช่วงปี พ.ศ.2449 – 2459 แต่ไม่มีข้อมูลของการผลิตแต่อย่างใด
จากนั้นจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวต่างประเทศได้เข้าติดต่อค้าขายและมีการเสาะหาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีชาวอิตาเลียน ได้ขอทำการขุดทองที่บางตะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อกลับไปก็ไปเผยแพร่ว่าประเทศไทยนั้นอุดมด้วยแร่ทองคำเนื้อดีจึงทำให้ชาวต่างชาติหลายชาติได้เข้ามาขออนุญาตขุดหาแร่ทองคำมากขึ้น
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแก่บริษัทจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสหลายแห่ง เช่น แหล่งโต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส แหล่งบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น แต่บริษัทต่างๆ เหล่านี้ ได้หยุดดำเนินการเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้มีบันทึกไว้ว่า บริษัท Societe des Mine d’Or de Litcho ของฝรั่งเศส ได้ทำเหมืองแร่ทองคำที่แหล่งโต๊ะโมะ จังหวัดนราธิวาส ในระหว่างปี พ.ศ.2479 – 2483 ได้ทองคำหนักถึง 1,851.44 กิโลกรัม ระหว่างปี พ.ศ.2493 – 2500 กรมโลหกิจ(กรมทรัพยากรธรณีในปัจจุบัน) ได้ทำเหมืองทองคำที่บ้านบ่อ จังหวัดปราจีนบุรี สามารถผลิตทองคำได้ถึง 54.67 กิโลกรัม

บทความจาก www.goldtraders.or.th

No comments: